ทองแถม นาถจำนง ภาพยนตร์จีนชุด “สามก๊ก” ( ชุด 2010) กำลังฉายทางโทรทัศน์ช่อง 3 ฟัง ๆ เสียง ประเด็นหนึ่ง คงเป็นเรื่องทัศนคติต่อ โจโฉเพราะสามก๊กฉบับนิยายของหลัวก้วนจงนั้น เขียนให้ฝ่ายเล่าปี่เป็นฝ่ายธรรมะ ส่วนฝ่ายโจโฉเป็นฝ่ายอธรรม หนังสือภาษาไทยที่ดูเหมือนจะเป็นเล่มแรกที่เขียนแห้ต่างให้โจโฉ เห็นจะเป็นเรื่อง “โจโฉ นายกตลอดกาล” ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช หยิบขึ้นมาอ่านใหม่เถิดครับ แล้วจะเห็นว่า หนังโทรทัศน์สามก๊กชุดใหม่นี้ ก็มิได้มีอะไรใหม่เอี่ยมอ่องอะไรนัก และอันที่จริงในกระแสประวัติศาสตร์ทางวิชาการจริง ๆ ก็ยกย่องโจโฉมาตลอด จึงขอเสนอประวัติจริงของโจโฉ ไว้อย่างย่อ ๆ ดังนี้ โจโฉ ชาวอำเภอเฉียว (ปัจจุบันคืออำเภอเห้าเสี้ยน มณฑลอันฮุย) เมืองไพก๊ก เป็นบุตรชายของโจโก๋ โจโก๋เป็นบุตรบุญธรรมของขันที –โจเท้ง เขาซื้อตำแหน่งขุนนางนายทหารระดับ “ไทอวย” (ไท่เหว่ย) คราวเกิดการลุกขึ้นสู้กลุ่มผ้าเหลือง โจโฉอยู่ในกองทัพของฮองฮูสง ไปปราบปรามกบฏผ้าเหลืองที่เอ็งฉวน ครั้นตั๋งโต๊ะยึดอำนาจ โจโฉตั้งกองทัพอาสาเข้าร่วมกับกองทัพหัวเมืองบูรพา ค.ศ ๑๙๒ กบฏผ้าเหลืองชาวเซียงจิ๋ว ฆ่าเล่าต้าย – เจ้าเมืองมณฑลกุนจิ๋ว (กุนจิ๋วชื่อสื่อ) เหล่าขุนนางในกุนจิ๋วร่วมกันเชิญให้โจโฉรับตำแหน่งข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว (กุนจิ๋วมู่ , ตำแหน่งชื่อสื่อเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่ได้คุมกองทัพ ตำแหน่งมู่เป็นทั้งเจ้าเมืองและคุมกองทัพด้วย) ในปีนั้น โจโฉโจมตีกบฏผ้าเหลืองชาวเซียงจิ๋วแตกพ่ายที่เมืองเจปัก (ฉีเป่ย – ปัจจุบันคือเมืองฉางชิง มณฑลซานตง) “ได้เชลยสวามิภักดิ์สามแสนกว่า จึงคัดเลือกคนที่แข็งแรงแคล่วคล่องไว้ เรียกว่ากองทหารเซียงจิ๋ว” โจโฉจึงเรืองอำนาจขึ้นมาก ค.ศ ๑๙๖ (เจี้ยนอันศก ปีที่หนึ่ง) โจโฉยกทัพไปปราบปรามกบฏผ้าเหลืองที่เมืองหลิหลำและเมืองเอ็งฉวนตอนที่โจโฉได้ มณฑลกุนจิ๋ว มอกาย เสนอให้โจโฉ “ใช้ราชโองการโอรสสวรรค์สั่งผู้ที่ไม่ยอมศิโรราบ ฟื้นฟูการกสิกรรมและปศุสัตว์เพื่อกองทัพ ถ้าทำดังนี้การจะเป็นอธิราชก็สำเร็จ” (ในฉบับนิยายว่า กลยุทธ์ที่ใช้โองการฮ่องเต้บังคับบัญชาขุนศึกอื่น เป็นของซุนฮก) โจโฉรับมาดำเนินการ ค.ศ ๑๙๖ พระเจ้าเหี้ยนเต้หนีออกจากเตียงอัน กลับไปลกเอี๋ยง โจโฉรีบไปเชิญเสด็จมาอยู่เมืองฮูโต๋ (สฺวี่ชาง) ใช้ยุทธวิธี “อ้างโอรสสวรรค์บังคับบัญชาบรรดาขุนศึก” จึงสร้างความได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้น ในปีนั้น โจโฉเริ่มฟื้นฟูกระตุ้นการกสิกรรม ใช้ระบบ “ถุนเถียน” (รวบรวมราษฎรที่แตกสานซ่านเซ็นกลับมาอยู่รวมกัน จัดสรรแบ่งที่นาให้ราษฎร ยกเว้นส่วยภาษี) ในแถบฮูแห้ (สฺวี่เซี่ย) ได้ข้าวถึงล้านถัง สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านเสบียงอาหาร สร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขึ้นมา โจโฉใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ถูกต้อง จึงเข้มแข็งขยายอำนาจขึ้นมาก ในช่วงนั้น ยังมีขุนศึกเรืองอำนาจอยู่สิบกว่ากลุ่ม เช่น ขุนศึกที่อยู่ทางเหนือของโจโฉคืออ้วนเสี้ยว ทางด้านใต้มีขุนศึกเตียวสิ้วอยู่เมืองลำหยง (หนานหยาง) เล่าเปียว อยู่มณฑลเกงจิ๋ว (จิงโจว) ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้มีขุนศึกอ้วนสุด อยู่มณฑลยังจิ๋ว (หยางโจว)ทางด้านตะวันออกคือมณฑลชีจิ๋ว (สฺวีโจว) ตอนแรกมีขุนศึกลิโป้ครองอำนาจ ต่อมาเล่าปี่ได้ครองอำนาจแทน ส่วนแดนตะวันตก(เสเหลียง) มีขุนศึก หันซุย กับ ม้าเท้ง ค.ศ ๑๙๗ อ้วนสุดพ่ายแพ้โจโฉอย่างยับเยิน ค.ศ ๑๙๘ โจโฉบุกโจมตีมณฑลชีจิ๋ว ฆ่าลิโป้ ในปีนั้น โจโฉยังรบชนะกองทัพพันธมิตรของเตียวสิ้วกับเล่าเปียว ค.ศ ๒๐๐ โจโฉโจมตีทำลายกำลังของเล่าปี่ ที่เมืองเสียวพ่าย มณฑลชีจิ๋ว ส่วนขุนศึกในแถบกวนจง (เช่น เตียวสิ้ว) โจโฉก็ส่งคนไปเกลี้ยกล่อม อ้างราชโองการพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้สถานการณ์แถบกวนจงสงบลง ถึงตอนนี้โจโฉยืนมั่นคงในแดนตงง้วน (ภาคกลางประเทศ คือลุ่มน้ำฮวงโหตอนกลาง) มีอำนาจพอแข่งขันต่อสู้กับอ้วนเสี้ยวได้แล้ว ค.ศ. 200 กองทัพอ้วนเสี้ยวทำสงครามชี้ขาดชัยชนะกับกองทัพโจโฉที่ยุทธภูมิ “กัวต๋อ” (กวนตู้) ฝ่ายอ้วนเสี้ยวมีกองทัพมหึมา ไพร่พลหนึ่งแสน ม้าศึกหมื่นม้า ส่วนกองทัพของโจโฉที่ต้านทานอ้วนเสี้ยวมีกำลังพลเพียงหมื่นสองหมื่นคนเท่านั้น อ้วนเสี้ยวครองดินแดนสี่มณฑล คือ กิจิ๋ว เปงจิ๋ว เชงจิ๋ว และอิวจิ๋ว ส่วนโจโฉครองดินแดนเพียงสองมณฑล ดูจากจำนวนทหาร เสบียงอาหารอาวุธยุทธภัณฑ์ และแนวหลังที่คอยสนับสนุนแล้ว อ้วนเสี้ยวมีความได้เปรียบเหนือกว่ามาก แต่ทว่าในทางการเมืองนั้น การปกครองกิจิ๋วของอ้วนเสี้ยว “ทำให้พวกผู้มีอิทธิพลมั่งคั่งร่ำรวย ให้อำนาจวาสนากับเครือญาติ ปล่อยให้ราษฎรชั้นล่างยากแค้น ต้องจ่ายส่วยภาษีหนัก” ทำให้ราษฎรยากจนล้มละลาย อ้วนถำบุตรชายอ้วนเสี้ยว ปกครองเชงจิ๋ว ก็กดขี่ราษฎรอย่างทารุณโหดร้าย “ส่งทหารออกจับผู้คน ราวกับล่านกล่าสัตว์” ส่วนโจโฉนั้น ใส่ใจในการพัฒนาการผลิต ลดทอนการขูดรีดราษฎร อีกทั้งยังปราบปรามพวกผู้มีอิทธิพล ราษฎรนิยมโจโฉมากกว่าอ้วนเสี้ยวมาก ในทางการทหาร คำสั่งของอ้วนเสี้ยวไม่เข้มงวด คนภายในแตกแยกกันเอง กำลังขวัญไพร่พลทหารไม่ดี อ้วนเสี้ยวเลือกแต่งตั้งแต่คนที่สนิท ส่วนโจโฉเลือกใช้คนตามความสามารถต่อเรื่องเหล่านี้ โจโฉได้เปรียบ มีความเหนือกว่าอ้วนเสี้ยว นี่เป็นสาเหตุทำให้โจโฉได้ชัยชนะต่ออ้วนเสี้ยว ในยุทธการกัวต๋อ โจโฉแสดงออกถึงความปรีชาสามารถทางด้านการทหารอย่างเต็มที่ ในช่วงต้นอ้วนเสี้ยวเคลื่อนทัพหลวงไปตั้งที่ “บู๊เอี๋ยง” (หลีหยาง – ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหลิงเสี้ยน มณฑลเหอหนาน) ส่งกองทัพหน้าไปล้อมเป๊กม้า (ไป๋หม่า – ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกของอำเภอหัวเสี้ยน มณฑลเหอหนาน) โจโฉใช้กลยุทธ์ “ทำทีเข้าตีทางตะวันออกแต่กลับเข้าตีทางตะวันตก” ทลายวงล้อมของอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ อีกทั้งยังฆ่าทหารเอกของอ้วนเสี้ยวสองนาย คือ งันเหลียง (เหยียนเหลียง) และ บุนทิว (เหวินโฉ่ว) แล้วโจโฉถอยทัพกลับมารักษากัวต๋อ ต้านทานกองทัพพลหนึ่งแสนของอ้วนเสี้ยวอยู่อีกครึ่งปี ต่อมาเขาฮิว (สฺวี่ซิว) ที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวหนีไปสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ แจ้งความลับเรื่องจุดที่ตั้งค่ายเก็บเสบียงอาหารของกองทัพอ้วนเสี้ยว โจโฉจึงลอบใช้กองทหารชั้นเยี่ยมจำนวนห้าพันนายลอบไปเผาทำลายค่ายเสบียงอาหารของอ้วนเสี้ยวที่อัวจ๋อ (อูเจ๋า ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเหยียนจิน มณฑลเหอหนาน) ฆ่านายพลอิเขง (ฉุนอฺวี่จิง) เผาเสบียงอาหารของกองทัพอ้วนเสี้ยวจำนวนหมื่นกว่าเกวียนมอดไหม้หมด กองทัพอ้วนเสี้ยวขวัญผวา แนวรบแตกสลาย เตียวคับทหารเอกของอ้วนเสี้ยวก็ยอมจำนนต่อโจโฉ อ้วนเสี้ยวเหลือเพียงทหารใกล้ชิดแปดสิบกว่าคนหนีรอดชีวิตกลับไป ส่วนกองทหารเจ็ดหมื่นกว่าคนถูกกองทัพโจโฉฆ่าตาย โจโฉทำลายกองกำลังหลักของอ้วนเสี้ยวลงได้ในยุทธการกัวต๋อ วางรากฐานสำหรับการรวมภาคเหนือให้เป็นเอกภาพในขั้นต่อไปหลังจากศึกกัวต๋อสองปี อ้วนเสี้ยวก็ป่วยตาย บุตรชายสองคนของอ้วนเสี้ยวคือ อ้วนถัม (หยวนถาน) กับอ้วนซง (หยวนซาง) ต่อสู้แย่งอำนาจกันเอง โจโฉยกทัพตีได้กิจิ๋ว ฆ่าอ้วนถำ – บุตรอ้วนเสี้ยว และโกกัน (เกากั้น)ข้าหลวงมณฑลเปงจิ๋ว ส่วนอ้วนซงหลบหนีไปพึ่ง เป๊กตุ้น - ราชาเผ่าอูหวน หวังจะสะสมกำลังกลับมาต่อสู้ฟื้นอำนาจใหม่ ค.ศ. 207 โจโฉตัวสินใจยกทัพตามกำจัดถอนรากถอนโคนอ้วนซง จึงยกทัพไปทาง หลูหลงไส้ (ปัจจุบันคือสี่เฝิงโข่ว มณฑลเหอเป่ย) เดินทัพตามเส้นทางในภุเขาห้าร้อยกว่าลี้ ไปโจมตีเมืองหลิวเซีย (หลิ่วเฉิง – ปัจจุบันคือเมืองฉาวหยาง มณฑลเหลียวหนิง) กองทัพโจโฉปะทะกับกองทัพของเป๊กตุ้นและอ้วนซง ที่เชิงเขาเป๊กลงสาน (ไป๋หลางซาน) (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอผิงเฉวียนเสี้ยน มณฑลเหลียวหนิง) ฆ่าเป๊กตุ้น และได้ชาวจีน,ชาวเผ่าอูหวน สวามิภักดิ์สองแสนกว่าคน อ้วนซงหลบหนีไปพึ่ง กองซุนของ (กงซุนคัง) – ข้าหลวงแคว้นเหลียวตง กองซุนของตัดหัวอ้วนซงส่งมาสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ เสร็จศึกครั้งนี้นับว่าโจโฉมีอำนาจปกครองภาคเหนือได้เป็นเอกภาพทั้งหมด หลังจากได้ชัยชนะรวมภาคเหนือเป็นเอกภาพแล้ว โจโฉหวังจะฉวยจังหวะทำศึกรวมทั่วแผ่นดินให้เป็นเอกภาพ ค.ศ. 208 โจโฉมุ่งปราบปรามเล่าเปียวขุนศึกผู้ครองเกงจิ๋ว และเล่าปี่ที่อาอาศัยพึ่งเล่าเปียวอยู่