ทวี สุรฤทธิกุล
ดังที่ปรากฏใน “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ เมื่อ พ.ศ. 2446 ที่กล่าวถึงข้าราชการ ข้าราชบริพาร รวมถึงคนไทยและสังคมไทยว่า ยังมีข้อบกพร่องในทางความคิดเห็นอยู่มาก อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง ดังที่ได้นำเสนอมาเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจ น่าใคร่ครวญ ที่อาจนำมาเปรียบเทียบกับผู้คนสมัยนี้ว่าก็ยังมีลักษณะ “ความบกพร่องทางความคิด” ดังกล่าวอยู่ตลอดมา นั่นก็คือความเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้คนที่มีการแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่เขาเป็น “อารยะ” แล้ว(คือเมืองฝรั่งที่ชนชั้นปกครองไทยคิดจะเอามาเป็นแบบอย่าง) เขาจะประสานความคิดที่ขัดแย้งกันนั้น ด้วยการใช้เหตุและผลเข้าโน้มน้าว ที่สุดแม้ว่าจะยังเห็นไม่ตรงกัน แต่เขาก็ “ประนีประนอม” ที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า “พร้อมใจกันเดินทางกลาง” ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสาระสำคัญจึงขอนำมาลงโดยละเอียด ดังนี้
“เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าความสามัคคีที่ต้องการในเมืองไทยเวลานี้ มีอยู่ทางเดียวแต่ที่จะให้พร้อมใจกันเดินทางกลางมีข้อสำคัญมั่นใจเสียให้ทั่วกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ....(ข้อความที่ละไว้นี้ได้นำมาลงไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน) .... ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านผู้ซึ่งมีความคิดอยู่ปลายทั้งสองฝ่ายควรจะลดหย่อนความคิดของตนร่นลงมาให้อยู่กลาง ผู้จะจัดการบ้านเมืองตามเวลาที่สมควรจะสำเร็จตลอดไปได้ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันในอย่างกลางนี้แล้วจะเป็นผลให้การทั้งปวงสำเร็จได้ดีกว่าที่จะอยู่หัวอยู่ท้ายนั้นมาก ซึ่งจะถือว่าเมืองอื่นๆเขามีความคิดที่ตรงกันข้ามอย่างนี้บ้านเมืองจึงได้มีความเจริญนั้นถือไม่ได้ ด้วยเหตุว่าคนในเมืองไทยเคยรวบรวมกันเป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียว คือเอากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ เมื่อกระแสพระราชดำริเป็นไปอย่างไร คนทั้งปวงเห็นตามจริงเป็นตกลงไปได้โดยง่ายเป็นธรรมยั่งยืน เคยฝึกหัดมาหลายชั่วคนแล้ว เหตุว่ากระแสพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดิน ว่าเอาแต่เพียวในพระบรมราชวงค์ประจุบันนี้เป็นประมาณ ก็ย่อมตั้งอยู่ในความชอบธรรมอาศัยพระเมตตากรุณาต่ออาณาประชาราษฎรอันแรงกล้า เป็นที่นิยมยินดีชอบใจของราษฎรทั้งปวง จึงได้เป็นที่เชื่อใจวางใจของคนทั้งปวงเคยอ่อนน้อมยอมตามมาไม่มีผู้ใดจะคิดฝ่าฝืน ไม่เหมือนในประเทศยุโรปซึ่งพระเจ้าแผ่นดินประพฤติกาต่างๆรุนแรงตามอัธยาศัย มีบังคับเรื่องศาสนาเป็นต้น จนคนทั้งปวงมีความเบื่อหน่ายคิดอ่านต่อสู้ลดหย่อนอำนาจเจ้าแผ่นดิน ไม่ถือเอาเป็นประมาณหลักฐาน เป็นธรรมเนียมมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว แต่ส่วนในกรุงสยามนี้ยังเป็นธรรมเนียมยั่งยืนมานานเป็นพื้นเพอันดีอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อคบกับประเทศต่างๆจึ่งมามีความคิดต่างๆเกิดขึ้น คือพวกหนึ่งไม่ชอบในการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่รู้เหตุการณ์ซึ่งเป็นการจำเป็นอย่างไร เพราะรู้แตการภายในไม่รู้การภายนอก อีกพวกหนึ่งนั้นได้ร่ำเรียนการภายนอกไม่รู้การภายในตลอดอย่างไรก็คิดแต่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ให้เหมือนเมืองอื่นเขาไปอย่างเดียวการอันใดที่ได้จัดได้ทำไป ซึ่งไม่เป็นที่พอใจพวกหนึ่งแล้วนั้นก็กลับเป็นที่พอใจของพวกนี้เล่า เพราะเห็นเป็นว่าเหมือนไม่ได้จัดอันใด แต่คนทั้งสองพวกนี้ คงจะมีพวกน้อยกว่าผู้ที่ถือธรรมเนียมเดิม คือ ถือเอาพระราชดำริเป็นประมาณนั้นทั้งสองพวกเพราะฉะนั้นเห็นว่า ถ้าจะชักนำให้คนทั้งปวงมีความคิดเป็นไปตามความคิดของผู้ที่คิดการเปลี่ยงแปลงถ่ายเดียว หรือผู้ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น ยากกว่าที่จะชักเข้าหาทางกลาง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่คนทั้งปวงเคยถือมาโดยมาก ถ้าจะคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองจริงๆแล้ว จะใช้ความคิดอย่างแรงทั้งสองอย่าง คือ ตั้งเป็นพวกที่มีความคิดต่างแตกกันสองพวกอย่างฝรั่งนั้นยากกว่าที่จะจัดการให้ความคิดร่วมกันเป็นอันเดียวตามอย่างเก่าโดยว่าเจ้าแผ่นดินจะอนุญาตให้ทำก็จะทำไปไม่สำเร็จ เพราะมีคนที่แยกความคิดอย่างนั้นน้อยนักอยู่แล้ว ยังจะซ้ำแบ่งออกเสียเป็นสองพวกอีก ก็จะไม่เหลือคนพอที่จะทำการได้กี่มากน้อย”
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะรวมความคิดเข้าเป็นกลางให้ลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พิจารณาเอาแต่ว่าการอันใดซึ่งเห็นว่าเป็นเวลาควรจัดควรทำเป็นการมีคุณดีขึ้น เป็นความสุขแก่ราษฎร เป็นการที่จะให้พระราชอาณาจักรตั้งอยู่มั่นคง ก็ปลงใจลงพร้อมกันคิดอ่านตั้งหน้าจัดการอันนั้นไปให้สำเร็จ ไม่ต้องถือว่าเป็นความคิดพวกนั้นพวกนี้ เพราะธรรมดาที่ถือว่าเป็นความคิดของพวกนั้นความคิดของพวกนี้นั้น มักจะชักให้เห็นความคิดของพวกอื่นเป็นใช้ไม่ได้ เมื่อพิจารณาอันใดก็ทำให้ความเห็นนั้นเอียงไปได้จริงๆ ถึงผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดนั้นเล่าเมื่อรู้ว่าผู้ซึ่งจะมาพิจารณาความคิดของตัวนั้นเป็นพวกอื่น ก็ทำให้เกิดทิฏฐิมานะ ที่จะไม่ยอมฟังคำทักท้วงในความคิดที่พลาดพลั้งไปหรือความคิดที่ดีกว่าของตัวได้คิดมา แต่ถึงโดยว่าจะยินยอมพร้อมใจกันลงรวมความคิดเป็นทางกลางทางเดียวกันดังเช่นชักชวนนั้นแล้วก็ดี ก็ยังจะมีผู้ซึ่งมีความรู้และสติปัญญาที่จะเริ่มคิดจัดการให้รอบคอบทั่วถึงพ้นจากเหตุการณ์ที่จะขัดข้องต่างๆให้เป็นการใช้ได้สะดวกดี มีไม่ออกแต่ความคิดเปล่าๆ เรียบเรียงกฎหมายที่จะใช้ได้จริงๆได้ด้วยนั้นน้อยตัวนัก แล้วยังเมื่อกฎหมายนั้นสำเร็จแล้ว จะหาตัวผู้ซึ่งจะไปจัดการให้ได้ตามกฎหมายโดยความฉลาดทั่วถึงและความเพียรอุตสาหะที่จะให้การนั้นเป็นไปได้ตลอด ไม่เสื่อมเสียจืดจางไปนั้นก็มีน้อยตัวเหมือนกัน...”
เราจะเห็นพระบรมราชาธิบายนี้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยที่คมคาย อันแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน