ทวี สุรฤทธิกุล “รู้กำพืดคือรู้ถึงเทือกเถาเหล่ากอ” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “เจ้าสำนักซอยสวนพลู” คือผู้นำเสนอทฤษฎี “กำพืดกับการเมือง” ที่หมายถึง “การที่จะเข้าใจการเมืองไทยให้ลึกซึ้ง ต้องรู้ลึกถึงกำพืดของนักการเมืองทั้งหลายด้วย” “กำพืด” ในความหมายที่เราคุ้นเคยก็คือ “ความเป็นเชื้อสายเครือญาติ” ด้วยการเชื่อมโยงว่าคนๆ นั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ทำมาหากินอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ใช้หลักการง่ายๆ เหล่านี้ในการเชื่อมโยง “ความน่าเชื่อถือของคน” เข้ากับ “ความน่าเชื่อถือของข้อมูล” ตอนที่ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เฝ้าสังเกตถึงวิธีการที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำมาใช้ในการ “ตีแผ่” หรือนำข้อมูลลึกๆ ของนักการเมืองทั้งหลายมาเปิดเผยแก่สาธารณะ ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งเลย เพียงแต่ท่านมีข้อมูลมาก จากการที่มีคน “คาบข่าว” มาสู่ท่านอยู่ตลอดวัน เนื่องจากท่านมีคนรู้จักมาก รวมทั้งคนที่อยากให้ท่านรู้จัก คนเหล่านี้ก็จะเข้ามาให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เท็จบ้างจริงบ้างก็ว่ากันไป แต่ที่เป็นความสามารถพิเศษของ “เจ้าสำนักสวนพลู” นั้นก็คือ ความสามารถในการกลั่นกรอง “เลือกข่าว” ที่จะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ออกไป การกรองข่าวหรือเลือกข่าวของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เพราะจากการที่มีคนให้ข่าวมากๆ ข่าวส่วนหนึ่งก็จะมีความเหมือนกัน นี่ก็พอจะอนุมานได้ว่า “น่าจะเป็นข่าวจริง” แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็มีวิธีการตรวจสอบให้แน่ชัดอีกต่อไป ด้วยการถาม “ท่านผู้รู้” คือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือรู้เรื่องในเรื่องนั้นโดยตรง แต่ที่น่าจะเป็น “พรสวรรค์” เฉพาะตัวของท่านก็คือ ท่านสามารถแยกแยะได้ว่า “ผู้รู้” คนนั้นพูดจริงหรือพูดเท็จ สิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นำมาแยกแยะความจริงความเท็จนี้ก็คือ “กำพืด” หรือ “สันดาน” ของคนๆ นั้น ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า การที่จะรู้จักกำพืดหรือสันดานของคนๆ หนึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อยก็ต้องได้ “กินข้าวกินเหล้า” คือได้นั่งพูดคุยอย่างใกล้ชิดด้วยกันมาสักระยะ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีวิธีการในการพูดคุยซักถามที่ทำให้คนไม่รู้สึกตัวว่ากำลังถูก “ล้วงความลับ” (พูดด้วยความเป็นธรรม บางทีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็อาจจะไม่อยากรู้ความลับอะไรของใครมากนัก แต่การพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดและด้วยคำถามที่ไม่อึดอัด ก็อาจจะทำให้คนเราระบายออกมาได้ง่ายๆ) เช่น ถามเรื่องสารทุกข์สุขดิบทั่วๆ เรื่องการงานอาชีพ เรื่องญาติพี่น้อง และอาหารการกินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้คนที่คุยด้วยรู้สึกสบายใจ ที่สุดก็จะกล้าพูดสิ่งที่เขาอยากจะให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์รู้ออกมา และจากการที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เฝ้าดูอากัปกริยาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ก็คงจะทำให้ท่าน “ล่วงรู้” ได้ว่าคนๆ นี้พูดจริงหรือเท็จ ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะเล่าให้ฟังก็คือ ครั้งที่เกิดกบฏเมษาฮาวาย เมื่อวันที่ 1- 4 เมษายน 2424 ที่นำโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ในเวลาสัก 6 โมงเช้าวันที่ 1 นั้น ผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของท่านเจ้าสำนักสวนพลูและมีที่พักอยู่ใกล้ๆ กับห้องนอนของท่าน ได้ยินเสียง “น้าหละ” นายสละ ผดุงวรรณ ที่เป็น “ต้นห้อง” กระหืดกระหอบขึ้นมาบอกผู้เขียนว่ามีโทรศัพท์จากนายทหารระดับแม่ทัพภาค แจ้งว่าได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้นแล้ว ผู้เขียนก็เข้าไปแจ้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ห้องนอน ซึ่งตอนนั้นท่านก็ตื่นขึ้นมาแล้ว กำลังดูข่าวรับอรุณอยู่ตามปกติ พอท่านทราบว่าคนที่โทรมาคือใคร ก็ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ตื่นเต้นอะไร แต่ท่านได้ให้ผู้เขียนโทรศัพท์ไปหาลูกศิษย์ 2 คนที่รับราชการอยู่ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ระหว่างนั่นท่านก็อาบน้ำแต่งตัวเหมือนเป็นปกติ ก่อนที่จะลงมารับประทานอาหารเช้าตอน 7 โมง แล้วถามรายละเอียดที่ท่านให้ผู้เขียนโทรศัพท์ไป จากนั้นท่านก็ให้เรียกคนขับรถให้เตรียมรถ และบอกน้าหละกับเด็กในบ้านให้เตรียมของขึ้นรถ รวมทั้งสุนัขตัวโปรด 2 ตัว คือ สามสี กับเสือใบ ให้ขึ้นรถไปด้วย สัก 8 โมงเช้าทุกอย่างก็เรียบร้อย ออกเดินทางไปเชียงใหม่ ไปที่บ้านริมแม่น้ำปิงที่เพิ่งสร้างเสร็จ และมีกำหนดที่จะขึ้นบ้านใหม่ในตอนสงกรานต์ปีนั้นอยู่แล้ว เมื่อขึ้นรถแล้ว ท่านก็ก้มลงลูบหัวสุนัขทั้งสองที่หมอบอยู่บนพื้น แล้วพูดว่า “สามสีเสือใบเอ๊ย เราทั้งสามเกิดมาก็อายุปูนนี้ ไม่คิดว่าจะมาเป็นลาวอพยพแบบวันนี้เลย” มีข้อมูลถึงการเดินทางแบบ “ลาวอพยพ” ในครั้งนั้นอีกเรื่องหนึ่งว่า ฝ่ายความมั่นคงที่โทรศัพท์ติดต่อกับนั้นได้บอกให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางตามเส้นทางสายเอเซียขึ้นไปทางเหนือจะปลอดภัยที่สุด เพราะทางเส้นมิตรภาพที่ไปอีสานและเส้นเพชรเกษมที่ไปทางใต้นั้นถูกทหารฝ่ายกบฏสกัดเส้นทางไว้แล้ว นี่ก็เป็นเรื่องของ “ข้อมูลเชิงลึก” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้ประโยชน์จากการที่มีคนรู้จักมากและ “ไว้ใจได้มาก” ดังกล่าว อันเป็นความไว้วางใจที่ต้องอาศัย “กำพืด” หรือ “นิสัยใจจริง” ของผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นด้วย อย่างไรก็ตามในยุคสมัยนี้เป็นยุคของ “นิวมีเดีย” หรือ “สื่อใหม่” ที่มีโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นการสื่อสารหลัก ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวดเร็วและกว้างขวางกว่า เพียงแต่ว่าคนในสมัยนี้จำนวนมากอาจจะไม่ค่อยได้ “แยกแยะ” หรือกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นเท่าใดนัก ที่สำคัญคือ “แหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้” ซึ่งต้องอาศัยความใกล้ชิดสนิทสนมหรือต้องรู้จัก “กำพืด” ให้ดีเท่านั้น ทั้งนี้อย่าลืมว่ากำพืดของแต่ละคนนั้น “ดีและชั่ว” ต่างกัน