แม้จะมีรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจบางคนในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกเป็นเป้าถูกฝ่ายค้านตรวจสอบปัญหาเรื่องคุณสมัติ จากการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา เหมือนเป็น “ชนักปักหลัง” ทว่าหลังผ่านศึกดังกล่าวมาแล้ว สิ่งที่จะต้องปรับจูนสมาธิตรงหน้า นั่นก็คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ยิ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจากนี้ด้วยแล้ว ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องมีสติมั่น เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยฉุดรั้ง โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ยังมี ชะลอตัว ลงจากปัจจัย ต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่ถูกกระทบ จากนโยบาย กีดกัน การค้าของสหรัฐ ผ่านห่วงโซ่การผลิต ของจีน และความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่ การลงทุน ยังมีความล่าช้า และคงต้องรอดูถึงมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมา แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรามีรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็อาจจะ ทำการเจรจาการค้า กับบางกลุ่มประเทศ มีความคืบหน้ามากขึ้น อาทิ การเจรจา การค้า FTA กับกลุ่ม EU เป็นต้น โดยคาดการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเติบโตประมาณ 3% จากไตรมาส 2 ที่ประมาณ 3.4% ส่วนทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุม G20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้ หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตาสำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในห้วงระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-1 ส.ค.62 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และได้มีกำหนดเข้าพบผู้บริหารระดับสูงรัฐบาลญี่ปุ่น ประกอบด้วย นายทาโร อาโซะ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังของญี่ปุ่น นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และนายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น รวมทั้งพบปะผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนและสถาบันการเงินของญี่ปุ่น ในการนี้ นายอุตตม ยังเข้าร่วมเสวนาเรื่อง ทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลังของไทยและความต่อเนื่องของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แก่ผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น 30 บริษัท โดยคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนญี่ปุ่นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย และยืนยันความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจองญี่ปุ่นเองนั้น อยู่ในสถานะทรงตัว แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เนื่องจากย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในเวียดนาม และปัจจัยภายในประเทศที่ประชาชนมีการออมสูง กระนั้น การเชื้อเชิญให้ญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเป็นสำคัญด้วย