ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “ผมพูดกับภาพเก่าๆ ทุกวันเลย บางทีน้ำตาก็ไหล แต่ละภาพเหมือนมีชีวิต มีเรื่องเล่าถูกถ่ายทอดออกมา” โกไข่ – นายชาญ นกแก้ว เอ่ยประโยคนี้กับผู้เขียน หลังการพูดคุยร่วมกันกว่าชั่วโมงในวงกาแฟหน้าโรงแรมใหญ่กลางเมืองเบตง โกไข่คือใคร มีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องอะไรกับภาพประวัติศาสตร์เก่าๆ คนที่ติดตามหรือเคยสัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับ “เบตง” อำเภอใต้สุดชายแดนสยาม มาบ้าง อาจเคยได้ยิน สัมผัส หรือรับรู้เรื่องราวของเขามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะเมื่อ คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ลงนามโดย นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณให้ในฐานะ “เป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พุทธศักราช 2558” รวมถึงการได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมเสวนาบอกเล่าประวัติศาสตร์เบตงผ่านเรื่องเล่าและภาพถ่ายเก่าๆ เมืองเบตง อย่างต่อเนื่อง วันนี้ “โกไข่” อายุ 59 ปีแล้ว เขาเป็นคนเบตงโดยกำเนิด เริ่มเรียนที่โรงเรียนพัฒนศึกษา หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงไปศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ลาดพร้าว กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกศิลปะ จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ขณะเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ทางครอบครัวได้ซื้อบ้านให้พักอยู่อาศัยย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยอยู่ร่วมกับพี่สาวและพี่เขยซึ่งเป็นแพทย์ทั้งคู่ ช่วงเวลานั้นนับว่ามีชีวิตวัยรุ่นที่ค่อนข้างสะดวกสบาย พร้อมกับความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะทำงานหาประสบการณ์ที่เมืองกรุงสักระยะหนึ่งก่อนจะหวนคืนสู่บ้านเกิด แต่แล้วในที่สุดชะตาชีวิตก็ต้องแปรเปลี่ยนเมื่อพี่สาวขอร้องว่า ให้ช่วยกลับมาดูแลแม่วัยชราที่เบตง เพราะความที่เป็นบุตรชายและมีความกตัญญู และนั่นจึงเป็นที่มาของตำนาน “เล่าเรื่องเบตงด้วยภาพเก่า” โดยส่วนตัวแล้ว “โกไข่” เป็นคนชอบเก็บสะสมภาพและของเก่าๆ มากว่า 20 ปี มีเวลาว่างคราใดก็จะถือโอกาสไปนั่งพูดคุยสอบถามคนเฒ่าคนแก่ถึงความเป็นมาของภาพที่ตนได้มา หากวันไหนโชคดีก็ทำให้ได้เจอตัวตนจริงๆ ของบุคคลในภาพ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 เขาได้ไปเที่ยวที่ “อัมพวา” จังหวัดสมุทรสงคราม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง แล้วเกิดความประทับใจร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่ติดรูปภาพขาว-ดำเก่าๆ ของอัมพวาเรียงรายเต็มฝาผนัง ด้วยความสงสัยจึงถามเจ้าของร้านว่า “ทำไมติดแต่ภาพเก่าๆ ของอัมพวา ไม่ติดภาพอื่นๆ บ้าง” คำตอบที่ได้รับจากเจ้าของร้านคือ “ติดทำไมภาพที่อื่นๆ ติดภาพอัมพวาบ้านผมดีกว่า ทำไมต้องติดภาพที่อื่นๆ นี่มันบ้านผม” นั่นจึงเป็นการ “จุดประกาย-แรงบันดาลใจ” ให้เขาตั้งใจนำประสบการณ์ที่พานพบกลับมาปรับปรุงร้านน้ำชาของตนเอง จนสามารถลบคำปรามาสที่บางคนบอกว่า “เขาบ้า” แต่เขาเองยืนยันว่า “ใครจะว่าผมบ้าก็ช่าง แค่ผมได้เก็บสะสมภาพเก่าๆ ของเบตง ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เวลามีใครมาชมภาพแล้วยิ้มแย้ม ผมก็มีความสุขแล้ว” ทุกวันนี้ “อำเพอเบตง” ที่ยังคงใช้อักษร “พ” แทน “ภ” เพื่อรำลึกอดีต กลายเป็นร้านกาแฟย้อนยุคหลังตลาดสดที่ฝาผนังประดับด้วยภาพเก่าๆ เมืองเบตง รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้เก่าๆ ของคนเบตงในอดีต เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ผู้นิยมชมชอบของเก่าหรือเรื่องราวเก่าๆ ถือโอกาสมาเยี่ยมมาเยือน แวะมาทักทาย มาฟังเรื่องเล่าเก่าๆ จากกูรูภาพเก่าเมืองเบตงโดยตรง หรือไม่ก็นั่งดื่มชากาแฟในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง ขณะที่โกไข่เองเริ่มเสาะแสวงหารูปภาพเก่าๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติมตลอดเวลา บางครั้งลูกค้าที่เข้าใจก็นำภาพเก่าที่มีอยู่ที่บ้านมามอบให้ ทำให้ที่ร้านจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ ของชุมชนเบตง หรือยามว่างตัวเขาเองก็จะหาเวลาไปเยี่ยมเยียนคนเฒ่าคนแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ บางครั้งหน่วยงานราชการเชิญไปบรรยายเล่าประวัติเมืองเบตงก็ยินดีไป  กระทั่งในที่สุด ภาพเก่าที่หลายคนอาจเห็นว่าไม่มีคุณค่า เคยถูกมองข้าม ก็ถูกนำมารวบรวมอยู่ในหนังสือ “เล่าเรื่องเบตงด้วยภาพเก่า” ให้คนรุ่นหลัง คนที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ เพื่อเข้าใจถึงตัวตนของบรรพบุรุษ ที่มาที่ไปของเมืองเบตง ได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างมากจนถึงขณะนี้ตีพิมพ์ไป 2 ครั้งแล้ว “ศณีรา” ซึ่งน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่มองเห็นและเขียนบอกเล่าวิถีของโกไข่ให้สาธารณชนได้รับรู้ เคยเขียนถ่ายทอดไว้ว่า คนธรรมดาเดินดินตัวเล็กๆ ที่ชื่อ “โกไข่” คนที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีรางวัลใดๆ การันตี แต่การกระทำน่ายกย่อง น่าจะเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนคนรุ่นหลังมากมาย  สิ่งหนึ่งที่ได้สัมผัส คือ “โกไข่เป็นคนที่ยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่ตนเองทำ เป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ เป็นคนที่กล้าลุกขึ้นมาลงมือทำในสิ่งที่ตนเองรัก แม้จะสวนกระแสสังคมก็ตาม” พร้อมกับย้ำว่า เชื่อว่าโกไข่จะเป็นหนึ่งในตำนานดีๆ ของเมืองเบตงลำดับต่อไป ภาพเก่าๆ หลายร้อยภาพที่สะสมไว้ กลายเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ ของเมืองเบตง ในมิติต่างๆ โดยมีภาพที่ภูมิใจที่สุด คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งเสด็จเมืองเบตงครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2519 นอกจากนี้ยังมีภาพที่ประทับใจมากมาย เช่น ภาพตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถ่ายไว้ในปี พ.ศ.2467 ภาพวงเวียนหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง ปี พ.ศ.2488 หรือภาพศาลจังหวัดเบตง ภาพบุคคลรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกเบตง ภาพเหตุการณ์สำคัญต่างๆ โดยภาพเก่าที่สุดที่มีคือภาพที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นภาพคนไทยยุคแรกที่เป็นข้าราชการ ประกอบด้วย นายเลี่ยม ตะลุงคะปุตคร์ พนักงานที่ดินประจำกิ่งอำเภอโกร๊ะ สมัยที่ไทยยังไม่เสียดินแดนให้มาเลเซียปี พ.ศ.2452 นายประพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ข้าราชการส่วนกลางที่ถูกส่งมาปฏิบัติงานในเบตงยุคแรก หมื่นประพันธ์เภสัช แพทย์แผนโบราณคนไทยคนแรกของเบตง และ นายจงฟุก ฟ้าอรุณ ผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้คน และนับเป็นคนแรกที่ผลิตเหรียญใช้ในเบตงในปี พ.ศ.2485-2488 “ภาพคนจีนคนแรกที่มาเบตง ผมยังมีเลย นายหลีซัง ปี 2443 เป็นคนจีนจากมณฑลกวางตุ้ง เข้ามาเบตงตอนอายุ 19 ปี ผมได้ภาพนี้จากลูกสาวเขาที่อายุ 85 ปี ผมไปตื้อเขา กว่าจะได้เรื่อง เขาเขียนโน้ตเป็นภาษาจีน แล้วผมก็เอาไปให้เขาแปล ตอนนี้ลูกหลานเขาก็ยังอยู่ เขาเป็นคนมีน้ำใจ สร้างความเจริญให้เบตงเยอะมาก” โกไข่ให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อฉบับหนึ่ง นอกจากนี้ข้อมูลเอกสารชิ้นหนึ่งที่เขาภูมิใจมากที่ได้ครอบครองอย่างไม่คาดหมายมาก่อน นั่นก็คือเอกสารของ นายสงวน จิรจินดา เรื่อง “บันทึกโจรจีนปล้นสถานีตำรวจเบตง” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 “เบตงเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ประกอบไปด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งมุสลิม ไทย จีน ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จุดเด่นประการแรกของเบตง ประชากรจะรู้จักกันและคุ้นหน้าคุ้นตากันดี มีความสามัคคี มีการศึกษา มีความเป็นอยู่ในระดับกลาง ทั้งเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมคนเบตง อำเพอเบตงเป็นเมืองที่พิเศษกว่าอำเพออื่นๆ ในประเทศไทย เช่น มีป้ายทะเบียนรถเบตง มีศาลจังหวัดเบตง มีคลังอำเภอเบตง และหน่วยงานทุกหน่วย มีเกือบทั้งหมดเหมือนกับจังหวัด เป็นอำเภอเดียวที่มีภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน คือ ภาษาจีน กวางตุ้ง กวางไส แต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน มลายูถิ่น (ยาวี) ไทย กลาง” สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งยืนยันว่า “เป็นเสน่ห์ของเบตงโดยเฉพาะ” และเสน่ห์เหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ในภาพถ่ายเก่าๆ มากมายที่ทำหน้าที่สะท้อน “เอกลักษณ์ของเมืองเบตง” ผ่านการอนุรักษ์สืบสานของคนชื่อ “โกไข่” แทนที่จะสูญหายไปเพราะไร้คนสนใจใยดี หรือไม่แม้แต่จะเหลียวแลถึงคุณค่าที่มีอยู่