ณรงค์ ใจหาญ
เป้าหมายของการดำเนินคดีอาญามีสองประการ คือ นำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษ เพื่อทำให้สังคมปลอดภัยจากการกระทำความผิดในอนาคต และในประการที่สอง ต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักประกันสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีอาญาของแต่ละประเทศจึงมุ่งการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายสองประการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ประเทศ แม้ว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบ ควบคุม การดำเนินคดีของเจ้าพนักงาน และมีการทบทวนคำพิพากษาของศาลเป็นลำดับชั้น แต่ก็อาจมีความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การลงโทษผู้บริสุทธิ์เพราะเหตุที่มีพยานเท็จ หรือมีหลักฐานที่ทำให้ผู้พิพากษาตัดสินลงโทษผิดพลาดได้ ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าว แยกออกได้เป็นสองขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนในระหว่างการพิจารณาของศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ศาลพิพากษาตัดสินลงโทษ แต่มีศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด กรณีนี้ จำเลยได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็คงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ถูกขัง หรือต้องต่อสู้คดี และยังเสียชื่อเสียงว่าต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาด้วย ส่วนอีกขั้นตอนหนึ่งคือ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แต่ต่อมาภายหลังพบว่า พยานหลักฐานหลักที่ศาลใช้ในการพิจารณาลงโทษนั้นเป็นพยานเท็จ หรือมีหลักฐานใหม่แสดงว่าจำเลยที่ได้รับโทษไปแล้วไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งในระยะหลังนี้ ผู้นั้นตกเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว และรับโทษอยู่ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ กรณีหลังนี้ ผู้บริสุทธิ์จะได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นเหตุให้ไม่อาจรับราชการได้ หรือมีประวัติต้องโทษในคดีอาญาด้วย
มาตรการเยียวยาความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทั้งสองกรณี มีในกฎหมายไทย กรณีแรก การเยียวยามุ่งเน้นการจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งจ่ายเป็นเงินทดแทนตามอัตราที่กฎหมายกำหนดในกรณีกักขังแทนค่าปรับในคดีอาญา ปัจจุบันคือ 500 บาทต่อวัน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด ส่วนในกรณีที่สอง การเยียวยามีขั้นตอนในการดำเนินการซับซ้อนกว่ากรณีแรก เพราะเหตุที่ผู้นั้น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องโทษในคดีอาญาและคดียุติไปแล้ว กำลังบังคับโทษอยู่ จึงต้องรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ก่อน จึงจะเยียวยาให้ครบถ้วนได้
เงื่อนไขในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ได้แก่ ต้องดำเนินการเพื่อให้มีคำพิพากษาของศาลว่า พยานหลักฐานซึ่งอาจเป็นพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลที่ศาลนำมาเป็นหลักในการตัดสินลงโทษจำเลยเป็นพยานเท็จ หรือไม่ถูกต้อง เมื่อได้คำพิพากษานี้แล้ว จึงจะมาขอให้ศาลสั่งให้มีการพิจารณาใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว และได้รับค่าทดแทนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกระบวนการที่จะบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวหรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อจะได้คำพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จึงต้องใช้เวลานาน และเมื่อมีคำพิพากษานั้นแล้วจึงมีสิทธิได้ค่าทดแทน กรณีหลังนี้จึงมีผู้ได้รับการรื้อฟื้นน้อยมาก อย่างไรก็ดี มีเงื่อนไขอีกประการที่สามารถรื้อฟื้นได้ ตามกฎหมายดังกล่าวคือ มีพยานหลักฐานใหม่ ที่สำคัญและนำไปสู่การพิสูจน์ว่าผู้นั้นไม่ได้กระทำความผิด กรณีสามารถยื่นต่อศาล และเปิดกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ และขอค่าทดแทนได้ถ้าศาลเห็นว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
ปัญหาว่า กรณีใดที่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ หากจะเทียบเคียงกรณีของการสอบสวนแล้วพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว แต่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะฟ้องคดีได้ ข้อเท็จจริงใหม่นี้จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนในคดีที่เสนอมาในครั้งแรก หรือไม่ได้พบหรือเรียกมาในชั้นสอบสวน แต่เพิ่งมาพบในภายหลัง ไม่ใช่ว่าเป็นกรณีที่พยานคนเดิมแต่ให้การใหม่ หรือมีหลักฐานดังกล่าวเสนอมาแล้วและมาตรวจพยานหลักฐานกันใหม่ เช่น พยานบุคคลคนนี้ เห็นเหตุการณ์ หรือมีพยานวัตถุ เช่น มีผู้ถ่ายคลิปไว้ หรือมีพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ แสดงว่า DNA ของผู้ต้องโทษ กับ DNA ที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุหรือตัวผู้เสียหายไม่ตรงกัน แสดงว่าเป็นคนละคนกัน ดังนี้ หากพยานเหล่านี้ไม่ได้ตรวจพบหรือนำเสนอในการสอบสวนหรือในการพิจารณาสืบพยานของศาลที่พิพากษาว่าได้กระทำความผิดแล้ว ก็สามารถนำเสนอต่อศาลเพื่อให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นพยานคนเดิม แต่ให้การใหม่ว่าที่เคยให้การว่าเห็นจำเลยกระทำความผิด แต่ขอให้การว่าไม่แน่ใจหรือจำคนผิดนั้น คงไม่ได้เป็นพยานหลักฐานใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้รื้อฟื้นได้
ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นกรณีก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ในด้านคนที่ตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องโทษถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหาย และถือว่าเป็นเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม การเยียวยาความเสียหาย จึงเป็นสิ่งที่รัฐมีหน้าที่ที่จะดำเนินการโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเป็นการกระทำซึ่งรัฐมีส่วนผิดหรือไม่ แต่ในด้านของรัฐนั้น การที่เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมนี้ สามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากเจ้าพนักงานและศาลร่วมมือกันในการคัดกรองคดี และมีความเป็นธรรมในการรวบรวมพยานหลักฐานมิใช่การมุ่งจะเอาผิดแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ความผิดพลาดดังกล่าว บางครั้งเกิดจากความเลินเล่อของพนักงานสอบสวนที่ไม่ได้ตรวจสอบพยานให้ดี บางครั้งเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานเท็จมาปรักปรำ หรือบางครั้งเกิดจากการที่ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ สร้างพยานหลักฐานเท็จมาปรักปรำ เป็นต้น ความผิดพลาดอันเกิดจากสาเหตุดังกล่าวจึงควรจะมีการป้องกันและมีความเข้มงวดในการที่จะดำเนินคดีโดยเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกระบวนการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง และเพิ่มการซักค้านพยานในชั้นพิจารณาให้มีความเข้มงวดจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ หรือแม้กระทั่ง ศาลที่พิจารณาอาจต้องเพิ่มบทบาทในลักษณะที่เป็นการไต่สวนหาความจริง และตรวจสอบพยานที่นำสืบมากขึ้นกว่าเดิมว่า เป็นพยานที่ให้การเท็จหรือไม่
ข้อเสนอในการแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในเรื่องแรก ในการปล่อยชั่วคราวระหว่างการสอบสวนและพิจารณา นั้นควรถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรให้ปล่อยชั่วคราวเป็นหลักจริงๆ ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันการปล่อยชั่วคราวจะต้องมีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือทรัพย์ เสมอ เพราะการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการลดความเสี่ยงของการที่รัฐดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด อย่างไรก็ดี การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคนที่มีอันตรายหรือมีแนวโน้มจะทำผิด ย่อมต้องใช้มาตรการควบคุมแทนการปล่อยชั่วคราว หรือใช้ เครื่อง Electronics monitoring ควบคุมในบ้านหลังจากการปล่อยชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันสังคมให้ปลอดภัย ประการที่สอง รัฐควรส่งเสริมการเก็บข้อมูลและพัฒนาการตรวจพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึง การตรวจ DNA เพื่อตรวจว่า DNA ที่พบในที่เกิดเหตุเป็น DNA ที่ตรงกับผู้กระทำความผิดหรือไม่ อีกทั้งมีความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐาน และการตรวจสอบพยานหลักฐาน รวมถึงให้มีทนายความที่มีประสิทธิภาพช่วยเหลือจำเลยในการต่อสู้คดี ประการสุดท้าย ควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ให้สามารถรื้อฟื้นคดีได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งให้มีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะแก้ไขปัญหาความผิดพลาดนี้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป