แสงไทย เค้าภูไทย
ปลายเดือนที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Financial Times ให้ฉายาประเทศไทยว่าเป็น คนป่วยแห่งเอเชีอาคเณย์ มาปลายสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าว Bloomberg เรียกไทยว่าประเทศด้อยพัฒนา
ยังไม่รู้ว่า ต่อไปจะให้ฉายาอะไรอีก เพราะประเทศไทยพักนี้มีอะไรแปลกๆ เข้าข่าย Amazing Thailand อยู่บ่อยๆ
การที่หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียลไทม์ส แห่งอังกฤษ พิมพ์บทวิเคราะห์วิจารณ์ไทยในชื่อเรื่อง Thailand remains the sick man of South-east Asiaในฉบับประจำวันที่ 26 มิ.ย.2019 โดยชี้ว่า ไทยความอ่อนด้อยใน 4 ด้านคือ จีดีพีโตต่ำ ส่งออกหดตัว ค่าใช้จ่ายในประเทศลดและหนี้เพิ่ม นั้น ไม่อาจเถียงได้
GDP โตต่ำและช้า โดยล่าสุด โต 2.8% ต่ำสุดในรอบ 4 ปีและต่ำสุดในหมู่เพื่อนบ้าน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์
ส่วนการส่งออกนั้นหดตัวจนติดลบ 2 ไตรมาสต่อเนื่อง ทำให้ 5 ปีหลังสุด(ช่วง คสช.ครองอำนาจ) โตเฉลี่ย 2% สัดส่วนในจีดีพีลดลง 10.1%
ส่วนการใช้จ่ายในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่รวมเป็นจีดีพีด้วยกันนั้น ตอนนี้เป็นแค่ 47% จากที่เคยมีสัดส่วนถึง 52% ของจีดีพี
หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 34%ของจีดีพีและมีแนวโน้มเป็น 40% .ใน 4 ปีข้างหน้าจาก 30% เมื่อ 5 ปีก่อน
หนี้ครัวเรือนสูงติดอันดับ 10 ของโลกในบรรดา 89 ชาติหนี้ท่วมของโลก
ภาพลบเหล่านี้ เมื่อนำไปรวมกับแนวโน้มที่ไทยจะเข้าสู่ความเป็นสังคมคนชรา ทำให้บลูมเบิร์กมองว่า Thailand Has a Developing Economy and a Big First World Problem เศรษฐกิจไทยยังคงเป็นเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาและเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาแรกของโลก
ปัญหาใหญ่ของโลกคืออะไร ?
“ความชราเป็นความยากเข็ญ ไม่ว่าจะด้วยสถานะใด และจะทุกข์เข็ญยิ่งขึ้นเมื่อคุณเป็นคนยากจน นี่คือสิ่งที่ทำนายว่าประเทศไทยในฐานะชาติกำลังพัฒนา กำลังอยู่ในแถวหน้าที่จะเผชิญกับอัตราทารกเกิดต่ำครั้งแรกของโลก ( first-world-style baby bust)”
อัตราเกิดต่ำของประชากรเป็นตัวชี้วัดเชิงจิตวิทยาที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีตัวหนึ่ง
ด้วยคตินิยมที่ว่า “มีบุตรเมื่อพร้อม” สอดรับกับ “มีลูกคนจนไป 7 ปี” ทำให้คนไทยรุ่นเจริญพันธุ์ยุคนี้ ยืดอายุการมีครอบครัวออกไป 5-10 ปี
ยิ่งกว่านั้น ยังมีการคุมกำเนิด เหตุจากความไม่เชื่อมั่นในอนาคต
ขณะเดียวกัน การที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามากลบหรือกำจัดกรรมวิธีและกระบวนการผลิตรุ่นเก่า( disruptive production) ทำให้มีการปลดคนงานกันมาก ตั้งแต่ระดับแรงงานจนถึงระดับนั่งห้องแอร์
ขณะที่ลูกจ้างถูกปลดเป็นหมื่นๆคน แรงงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้จบปริญญาตรี ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดงานได้ เพราะตำแหน่งงานมีน้อย
ปีนี้คาดว่าแรงงานระดับปริญาตรี จะตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน
วัยทำงานที่ไม่มีงานทำเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อยู่ ที่ส่วนหนึ่งเกษียณอายุงานแล้ว
มองกันในมุมของเศรษฐศาสตร์คลาสสิก อัตราเกิด ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
เพราะเด็กเกิดใหม่ เป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภคในอนาคต
ยุค Baby Boomer 1940-1960 เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการผลิตประชากรรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นก่อนที่ตายไปกับสงครามกันมาก
คนรุ่นนี้ เข้มแข็งอดทนเป็นคนสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคมใหม่ สร้างระเบียบใหม่ของโลก New World Order
รุ่นนี้ ร่อยหรอไปกับวัยชราเหลือน้อยลงทุกที
ในชาติที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่าไม่ขาดสาย เป็น Generation X-Y-Z มาทดแทน
พวก เจนเนอเรช่น X ขณะนี้เคลื่อนเข้าสู่สังคมคนชรา โดยประเทศไทยจะมีถึง 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า
ส่วนเจนเนอเรชั่นที่ทำมาหาเลี้ยงคนไทยแทนเจนเอ็กซ์จะมีจำนวนน้อยลงเพราะอัตราเกิดต่ำ ยิ่ง Gen-Zด้วยแล้ว ยิ่งต่ำกว่า
พวก Gen-Y หรือ millennials เป็นกลุ่มมีพลังและผลิตผลสูงที่สุดในบรรดาประชากรทุกรุ่น
เป็นพวกที่ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นต่างๆทั่ว โลก เช่น วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงไม่เเหมือนชาติอื่น คือมีการทำรัฐประหาร ที่เกิดบ่อยเสียจนทั้งคนไทย ทั้งนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น
ระยะ 5 ปีทีในครอบของคสช.เป็นการพิสูจน์ได้ว่า การปกครองแบบเอกาธิปไตย (autocracy) ที่ใช้รูปแบบรัฐราชการ เป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และมีการคอรัปชั่นกันทุกระดับชั้น
ความไม่เชื่อมั่นในอนาคตเช่นนี้ ทำให้คนไทยวัยเจริญพันธุ์ชะลอการมีบุตรจนเกิดภาวะ Baby Bust ดังที่บลูมเบิร์กชี้
คำว่ามีลูกคนจนไป 7 ปี อาจเปลี่ยนเป็นมีลูกคนจนไป 10 ปีตามอายุเป้าหมายของรัฐบาลเมื่อใดก็ได้