"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือฤกษ์ 07.00 น.เดินทางเข้ากระทรวงกลาโหม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ท่ามกลางพิธีการต้อนรับอย่างสมเกียรติ โดยมี "บิ๊ก ช้าง" พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ตลอดจน ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้การต้อนรับ
ตามขั้นตอนพิธีการจะเริ่มที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพิธีสักการะองค์พระหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาลาว่าการกลาโหม จากนั้นเวลา 07.30 น. จะเป็นพิธีรับการเคารพจากการสวนสนามของกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ณ ลานอเนกประสงค์ในศาลาว่าการกลาโหม ก่อนที่จะเข้ารับฟังการบรรยายสรุปภารกิจของกระทรวงกลาโหม ณ ห้องภาณุรังษี ภายในศาลาว่าการกลาโหม จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จะกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นประธานการประชุมครม.ชุดใหม่
แน่นอนว่าภาพที่พล.อ.ประยุทธ์ นั่งในเก้าอี้ "สนามไชย1" กำลังเหมือนการสะท้อนให้เห็นถึง "อำนาจ" ทางการทหาร และงานด้านความมั่นคงที่กลับมาอยู่ในมือ "ผู้นำรัฐบาล" ได้ชัดเจนว่า แม้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ใช่ "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือคสช. แล้วก็ตาม ไร้ดาบอาญาสิทธิ์ อย่าง "มาตรา 44"
แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ กลับได้ติด "เขี้ยวเล็บใหม่" ในฐานะ "รมว.กลาโหม" คุมกองทัพเอาไว้ในมือ เสริมความแข็งแกร่งให้กับ เก้าอี้ฝ่ายบริหาร อย่างไม่ต้องสงสัย
การกลับถิ่นเก่า ด้วยการกลับมากำกับกองทัพของพล.อ.ประยุทธ์ รอบนี้ย่อมมีความแตกต่างและเข้มข้นไม่น้อยไปกว่าเมื่อคราวที่เขานั่งในตำแหน่ง "ผบ.ทบ." และทำหน้าที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในเหตุการณ์ "22 พฤษภา 57"
เพียงแต่การกลับมากุมอำนาจในกองทัพรอบนี้ คือหนึ่งในแผนการเล่นที่จะควบคุมทั้งภาระหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหารและ "ด้านการเมือง" ไปในคราวเดียวกัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า กระแสที่สะพัดมาก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะก้าวขึ้นไปนั่ง "หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" ส่วน "พี่ใหญ่" อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะได้มีโอกาสลงไปลุยงานด้านการเมืองที่พรรคอย่างเต็มตัว ในฐานะ "ที่ปรึกษาพรรค" ด้วยเช่นกัน
การกระชับอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ในส่วนของงานด้านความมั่นคง ในฐานะ "สนามไชย1" ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนมือกันเล่นระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ภายใต้โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของคสช.เอง ก็นับว่าน่าสนใจในความเสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาล อยู่แล้ว
แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ยังเตรียมที่จะกำกับดูแลงานสำคัญ อย่าง "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือดีเอสไอ งานในกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี "สมศักดิ์ เทพสุทิน" เป็นรมว. ยุติธรรม
" กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่กำกับดูแลดีเอสไอ แต่ในการกำกับงานคดีตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งได้ยินนายกฯพูดว่า จะเข้ามาดูแลดีเอสไอโดยตรง ไม่มอบงานให้รองนายกฯ เข้ามาทำงานในส่วนนี้แทนเหมือนในอดีต ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นผลดีและจะช่วยให้ดีเอสไอทำงานแบบบูรณาการกับส่วนราชการอื่นๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร" (29ก.ค.2562)
แน่นอนว่าการเข้ามานั่งในเก้าอี้ "รมว.ยุติธรรม" ของสมศักดิ์ 1 ในแกนนำกลุ่มสามมิตร รอบนี้ถูกมองมาตั้งแต่แรกแล้วว่า เป็นเก้าอี้ที่กลุ่มสามมิตร ไม่ต้องการ
และล่าสุดงานสำคัญ อย่างดีเอสไอ ยังส่อเค้าว่าจะไปอยู่ในการกำกับดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ อีก น่าจะเป็นการสะท้อนว่า แท้จริงแล้ว "3 ป." แห่งคสช. ที่กลับมารอบสองครั้งนี้ ได้ตั้งธงเอาไว้แล้วทั้งงานในฝ่ายบริหารไปจนถึงการคุมสถานการณ์ทั้งในและนอกสภาฯ