ใช้เวลา 2 วัน 2คืน ในศึกแถลงนโยบายรัฐบาล และในที่สุด “3 ป.” ก็สามารถ “ผ่านฉลุย” มาได้แม้งานนี้ “ป.ประยุทธ์” อาจจะมีบาดแผลบ้างเล็กน้อย เพราะดันไปปะทะคารมจน ฟิวส์ขาดก็ตาม แต่ภาพรวม ต้องยอมรับว่าการตอบโต้ ของพล.อ.ประยุทธ์ กลางสภาฯ รอบนี้ก็ได้รับคำชมไม่น้อยว่า นี่อาจไม่ใช่ “หมู” ที่ฝ่ายค้านหวังจะเคี้ยวได้อย่างสบายๆ ระยะเวลาจากนี้ไป ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเองต้องกลับไปทบทวนและประเมินว่า อะไรคือ “จุดดี-จุดด้อย” และสิ่งไหนคือสิ่งที่จะต้อง “แก้มือ” สำหรับศึกในรัฐสภารอบต่อไปที่ต่างฝ่ายต่างต้องเผชิญศึกใหญ่ ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายด้านการเงิน จะต้องร่วมกันออกแรงผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านสภาฯให้ได้ เมื่อโอกาสการแสดงบทบาท ของพรรคฝ่ายค้านยุติลงไปแล้ว จังหวะการเล่นต่อจากนี้จึง ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายรัฐบาลอันประกอบด้วย “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่จะต้องเร่งมือ “ทำผลงาน” ในแต่ละกระทรวงที่มีรัฐมนตรีของพรรคเข้าไปนั่งกำกับดูแลให้มากที่สุด นอกจากนี้ หากโฟกัสกลับมาที่ “3 ป.” ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยิ่งนับวาน่าสนใจและต้องจับตากันแทบทุกช็อต โดยเฉพาะปฏิบัติการ “กระชับอำนาจ” ในทางการเมือง ที่ “3 ป.” จะต้องเร่งควบคุมทุกกลไกทางการเมืองเอาไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ การวางตำแหน่งผู้เล่นให้ พล.อ.ประวิตร นั่งเพียงเก้าอี้เดียวคือ รองนายกฯ ในวันนี้น่าจะเป็น “คำตอบ” ที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนแล้วว่า แท้จริงแล้ว “แผนการเล่น” ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช.นั้นคิดอ่านประการใด ? เพราะแม้จะให้มีการเลือกตั้ง จนเกิดรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งลงไปแล้ว หรือแม้แต่จะการที่วันนี้ไม่มี คสช.ที่จะใช้ อำนาจตามมาตรา 44 อีกต่อไป ก็ตาม แต่ใช่ว่า การดำรงอยู่ของคสช. จะล้มหายไปด้วยแต่อย่างใด เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากโหมด คณะรัฐประหาร ไปสู่ฝ่ายบริหารที่จะควบคุมทุกกลไก ทั้งฝ่ายบริหารในฐานะ “รัฐบาล” ไปพร้อมๆกับการกระชับอำนาจทางการเมือง ผ่าน “บิ๊กป้อม” ที่จะลงมาเล่นในบทบาทสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่ว่าจะนั่งเก้าอี้ตัวไหน ในพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสะท้อนให้เห็นว่า คสช.ลงไปคุมกลไกพรรคการเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่าน “มือไม้” เหมือนเมื่อคราวแรกเริ่ม และยังต้องไม่ลืมว่าอีกหนึ่งตำแหน่งที่วาง พล.อ.อนุพงษ์ เอาไว้ที่ตำแหน่งเดิม คือ “มท.1” เพื่อควบคุมกลไกการเมืองระดับท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดยเป็น “แผนการเล่น” ที่ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วว่า ตำแหน่ง “มท.1”จะต้องถูกล็อคเอาไว้ให้พล.อ.อนุพงษ์ เท่านั้น เพื่อควบคุมทั้งการปกครองและการเมือง ทั้งฝ่ายเราไปจนถึง “ฝ่ายตรงข้าม” สถานการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่าทั้ง “ 3ป.” จึงไม่ได้เดินหน้าแค่เก็บแต้มคะแนนนิยมจากงานบริหารเท่านั้น หากแต่ยังวางเป้าหมายยึดสนามการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ !