แสงไทย เค้าภูไทย การสำรวจความเห็นของประชาชนในเรื่องคอรัปชั่นยังข้ามไปหลายเรื่อง หลายประเด็น โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ลัทธิบริโภคนิยม การสร้างรายได้ ทัศนคติ คตินิยม และความเชื่อในด้านต่างๆ มายาคติในการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมชาติ จนถึงวัฒนธรรมถิ่น ระบบอุปถัมภ์ ศักดินาจำแลงและฐานันดรศักดิ์แฝงเร้นในสังคมไทยสภาพแวดล้อม ฯลฯ สวนดุสิตโพลได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่สร้างความหนักใจให้กับประชาชนเรื่อง “ 5 ปัญหาหนักอกคนไทย ณ วันนี้” ช่วงการสำรวจ 30 ม.ค.-3 ก.พ.60 พบว่าปัญหาที่หนักอกคนไทยที่สุดอันดับ 1 คือการทุจริตคอรัปชั่น 84.69% อันดับ 2 คือความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน(โจรผู้ร้ายชุกชุม)74.00% อันดับ 3 ความเป็นอยู่ที่ยากจน มีหนี้สิน 71.05% อันดับ4 ความแตกแยก ขัดแย้งของผู้คน 68.18 อันดับ5 การเมือง 64.99% ปัญหาที่ทำให้คนไทยหนักอกหนักใจทั้งห้านี้ หากติดตามข่าวที่ออกมาจากภาครัฐเป็นประจำ จะพบว่า ล้วนเป็นประเด็นที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมาแก้ไข ทั้งในระดับนโยบายและในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการสร้างกระแสข่าวต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ รู้สึกว่าตัวเองควรจะมีส่วนร่วม เมื่อได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือตอบคำถามโพล ประเด็นทั้ง 5 นี้ จึงมีลักษณะเป็นคำถามนำ ผู้ตอบเลือกเอามาตอบมากกว่าปัญหาอื่นๆ สำหรับปัญหาที่ประชาชนเลือกเป็นเรื่องหนักอกที่สุดคือการคอรัปชั่นนั้น แรงกระตุ้นมาจากกระแสข่าวสินบนโรลสรอยซ์ มากที่สุด ตามด้วยการจัดอันดับขององค์กรความโปรงใสโลก(CP)ที่อันดับคอรัปชั่นของไทยปีที่ผ่านมา ตกจากอันดับ 78 ลงไปเป็น 101 แต่ถ้าสาวคดีท้าวไซซะนะเจ้าพ่อยาเสพติดคนใหม่ไปกระทบถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคนไทยเมื่อใด ข่าวสองอันดับนำนี้ จะมีอันตกอันดับทันที โพลถามถึงขบวนการแก้ปัญหา ก็ได้คำตอบที่เคยมีคนถามและมีคนตอบในลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว ต่างกรรม ต่างวาระ เพราะปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาโลกแตก เป็นกันทั้งโลก ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะมากหรือน้อย ตามอันดับที่CPI จัดไว้ พฤติกรรมหรือกิจกรรมคอรัปชั่นนั้น ตัวก่อเกิดมาจากแรงจูงใจหรือล่อใจ (temptation) กับแรงขับดัน(drives) เสียเป็นส่วนใหญ่ แรงจูงใจนั้น มีสารพัด ตั้งแต่ความอยากได้ อยากมี อยากเหมือน(คนที่เขารวย ) ลัทธิบริโภคนิยมที่แข่งกันบริโภค สองในปัจจัยสี่( needs)ทางสังคมวิทยาคือการยอมรับในสังคม (social approval) และความมั่นคงในชีวิต (Social security) อันได้แก่ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค การเป็นที่ยอมรับในสังคมเป็นแรงขับดันให้มนุษย์อยากได้ อยากดี อยากเด่นให้เป็นที่ยอมรับของสังคม มีการเลียนแบบการใช้ชีวิต การกินอยู่ การใช้สอย การแต่งกายของชนชั้นเหนือกว่าตน สิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม คตินิยม สมัยนิยม จารีตนิยม ฯลฯก็เป็นแรงขับดันทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีแรงขับดันที่มีลักษณะกดดันเฉพาะตัวเช่นภาระหนี้สิน รายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาษีสังคมต่างๆ และยังมีแรงขับดันและกดดันที่มาจากผู้มีอำนาจบารมี ผู้มีอิทธิพลทั้งภายในหน่วยงานหรือในท้องที่ ในท้องถิ่นและจากภายนอก อย่างกรณีตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาสั่งให้ลูกน้องรีดไถผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อนำเงินส่งส่วยนายระดับสูงๆขึ้นไปเป็นต้น สภาพแวดล้อมทางสังคมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้มีการคอรัปชั่น อย่างเช่นหน่วยงานที่มีผลประโยชน์มาก มีคนอยากเข้าไปทำงาน ไปเป็นลูกจ้าง เป็นข้าราชการ มาก ทำให้มีการแย่งชิง แข่งขัน แก่งแย่ง โดยใช้สินบนเป็นเครื่องมือในการแย่งชิง แม้แต่เจ้าที่ขนขยะก็ยังมีการคอร์รัปชันกันในลักษณะนี้ คนเก็บขยะนั้น ทั้งๆที่เงินเดือนถูก แต่บางพื้นที่ต้องจัดคิวกันขึ้นรถเก็บขยะ เพราะมีพนักงานล้น การที่พนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวเสียเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนมากก็เพราะ ตัวขยะเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้มากกว่าเงินเดือน 2-3 เท่าตัว ยกตัวอย่างเงินเดือน 6,000.00 บาท แต่เมื่อคัดแยกขยะออกมา จะได้ขวด เศษโลหะ กระดาษ ของใช้แล้วแต่สภาพดีพอจะปล่อยเป็นสินค้ามือสองตามตลาดนัดได้ ฯลฯ ขายวันละเป็นหมื่น เมื่อแบ่งกันแล้วได้คนละ 800-1,000 บาทโดยเฉลี่ย พนักงานบางคนถึงกับติดสินบนผู้มีอำนาจในการจัดคิว เพื่อให้ได้คิวขึ้นรถขยะถี่ขึ้น ค่าเก็บขยะที่รัฐบาลบอกว่าจะให้เก็บบ้านละ 120 บาทต่อเดือนจึงน่าจะไม่ใช่ความจำเป็นหรือเงื่อนไขในการบริการเก็บขยะของลูกจ้างกลุ่มนี้ ยังมีปัญหาที่แก้กันไม่ตกอีกด้านคือ การคอรัปชั่นอันเกิดจากระบบอุปถัมภ์ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงวันนี้ ระบบอุปถัมภ์ที่มีรากเหง้ามาจากคำอวยพร “โตขึ้นขอให้เป็นจ้าวคนนายคน” “นาย” คือผู้อุปถัมภ์สำคัญที่สุดในระบบราชการ การคอรัปชั่นอันเกิดจากระบบอุปถัมภ์ที่เห็นได้ชัดก็คือในวงการการตำรวจ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมในขณะนี้ จนมีคำถามว่า มีตำรวจไว้ทำไม ? คงจะเบื่อคำถามว่า ทำไมถึงมีการคอรัปชั่นในวงการตำรวจแล้ว ถ้าชาวบ้านตอบก็จะตอบว่า เอาไว้จับผู้ร้าย แทนคำว่ารักษากฎหมาย แต่ถ้าพวกสิบล้อ พวกพ่อค้าแม่ค้าคลองถมก็ตอบว่า เอาไว้เก็บส่วยส่งนาย เป็นการอุปถัมภ์แบบต่างตอบแทน นายอุปถัมภ์ด้วยการให้ยศให้ตำแหน่ง ให้ขั้น ลูกน้องอุปถัมภ์ด้วยการส่งส่วย(ตัวเองได้ส่วนแบ่งด้วย) ทำไมภาพลักษณ์ตำรวจไทยเป็นเช่นนี้ ทั้งๆที่ความดีมีมากกว่าความไม่ดีมากมายนัก ? คงต้องไปตีความในโคลงครึ่งบทนี้ ความดีหนาหนักแม้น พสุธา ความชั่วเท่าเม็ดงา กลบได้