ทวี สุรฤทธิกุล
คนไทยน่าจะเป็นชนชาติที่มีความอดทนที่สุดในโลก
สิ่งที่บ่งบอกก็คือ คนไทยต้องอดทนกับความน่าเบื่อทางการเมืองมาหลายสิบปี ความน่าเบื่อของการต่อสู้ทางการเมืองไทยนี้ก็คือ แต่ละฝ่ายก็พยายามแต่จะสร้าง “สีสันและกระแส” มากกว่าที่จะนำเสนอ “สาระและความจริง” โดยอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของนักการเมือง ที่พยายามจะสร้าง “ความเด่นดัง” ดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่ในหมู่นักการเมืองรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นนักการเมืองรุ่นเก่านั่นเองที่เป็นแบบอย่างให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านั้น คือความอยากเป็น “ดาวเด่น” ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “นักแสดงนักการเมือง”
ถ้าเราเริ่มจากแนวคิดที่ว่า “นักการเมืองคือใคร” ถ้าตามความหมายของคำก็คือ “คนที่ทำงานทางด้านการเมืองให้กับประชาชน” นั่นก็คือคนที่เข้าไปดูแลการบริหารประเทศ โดยส่วนหนึ่งก็เข้าไปเป็นรัฐบาล กับอีกส่วนหนึ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้าม (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Opposition ที่แปลว่า “ตรงข้าม” แต่ไทยเรามาใช้เรียกว่า “ฝ่ายค้าน”) ซึ่งในแนวคิดของระบอบรัฐสภาต้องการเพียงแต่จะแยกให้เห็นว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งได้รับบทบาทให้เข้าบริหารประเทศคือเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องคอบตรวจสอบควบคุมรัฐบาลนั้น ด้วยกระบวนการทางรัฐสภา เช่น การอภิปราย การยื่นญัตติ และการตั้งกระทู้ เป็นต้น โดยไม่ได้บอกเลยว่าให้ไป “คัดค้าน” หรือ “โต้แย้ง” กับรัฐบาล เพียงแต่เนื่องจากในระบบรัฐสภา นักการเมืองแต่ละฝ่ายอาจจะมีนโยบายหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าคนเหล่านี้อยู่กันคนละฟาก แต่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแล้วก็จำเป็นที่จะต้องปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติในแนวคิดที่แต่ละฝ่ายนั้นมีอยู่
นักการเมืองจึงเป็นเหมือน “นักรบเพื่ออุดมการณ์” มากกว่าจะเป็น “ผู้สร้างความบันเทิง” ดังเช่นความอยากเป็นดาราอย่างที่นักการเมืองจำนวนมากเป็นอยู่ ดังนั้นสิ่งนักการเมืองจะต้องนำเสนอก็คือ “ความเชื่อความคิดเพื่อชาติบ้านเมือง” หรือที่เราเรียกว่า “อุดมการณ์” นั่นเอง
การทำให้คนเชื่อก็คือการทำให้เขาเห็นด้วยกับความคิดของเรา เช่น การที่คนเชื่อว่าพ่อแม่รักเราจริง ก็เพราะได้เห็นว่าพ่อแม่ได้ทะนุถนอมเลี้ยงดูเราอย่างดีอย่างเต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากในทำนองเดียวกันถ้านักการเมืองจะทำให้ประชาชนเชื่อว่าตนเองรักประชาชน ก็ต้องปฏิบัติต่อประชาชนให้ดี ด้วยความซื่อสัตย์และเสียสละอย่างแท้จริงเช่นกัน
เมื่อประชาชนเห็นด้วยกับความเชื่อความคิดของเรา(หมายถึงนักการเมือง) เมื่อเราจะทำอะไรก็จะมีคนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม นั่นก็คือเรามีความสามารถทางการปกครองและเป็น “นักปกครอง” อย่างแท้จริง คือสามารถทำให้ผู้อื่น(ประชาชนหรือผู้ใต้ปกครอง)เชื่อฟังและคล้อยตามได้ ที่สุดเราที่เป็นนักการเมืองก็จะสามารถ “ครองใจ” ประชาชน เกิดเป็นความนิยมในเบื้องต้น จนถึงความเชื่อถือศรัทธาในที่สุด
ความเชื่อถือศรัทธานี่เองที่เป็นที่มาของ “อุดมการณ์ร่วมกัน”
ถ้านักการเมืองกับประชาชนมีอุดมการณ์ร่วมกันจะก่อให้เกิด “พลังอันมหาศาล” ซึ่งนักการเมืองที่มีชื่อเสียงสามารถใช้พลังของอุดมการณ์ที่มีร่วมกับประชาชนนี้ “สร้างสรรค์” สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ แม้แต่ชาติที่สูญสิ้นความเป็นชาติไปแล้วก็อาจฟื้นคืนความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ หรือชาติที่ได้สร้างขึ้นแล้วเมื่อคนในชาติมีอุดมการณ์ร่วมกัน ก็จะเกิด “พลังของการพัฒนา” คือการช่วยการสร้างความสุขความเจริญให้แก่คนในชาติดังกล่าว ซึ่งคนที่สามารถนำประชาชนให้ไปสู่สภาวะนั้นได้ เราเรียกคนแบบนี้ว่า “วีรบุรุษและวีรสตรี” คือผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถโดดเด่นและควรค่าแก่ระลึกถึงนั่นเอง
ปัญหาของการเมืองไทยก็คือ นักการเมืองจำนวนมากยังอยากเป็น “ดารา” มากกว่า “ฮีโร่” คือเอาแค่ความเด่นดัง เป็นที่รู้จัก หรือให้คนนิยมชมชอบเป็นเรื่องๆ ไป ในระยะเวลาชั่วครู่ชั่วคราว (เหมือนการเล่นละครเรื่องหนึ่งหรือร้องเพลงๆ หนึ่ง เป็นต้น เว้นแต่ว่าดาราหรือนักร้องบางคนอาจจะชื่อเสียงยาวนานเป็นอมตะ อย่างที่เรียกว่า “ดาวค้างฟ้า” นั้นก็พอมีอยู่) ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ นักการเมืองชอบเล่นหลายบทบาท บางทีก็เป็นพระเอก(นางเอก) บางทีก็เป็นผู้ร้าย รวมถึงที่เป็น “ดาวยั่ว-ดาวยวน” คือก่อกวนสร้างสีสันให้เกิดอารมณ์เคียดแค้นเกลียดชังก็มี แต่ที่น่าเบื่อไปกว่านั้นก็คือ การชอบแสดงออกในแบบดังกล่าวอยู่ร่ำไป โดยละเลยบทบาทหน้าที่ทีแท้จริงของการเป็นนักการเมือง ซึ่งก็คือการทำหน้าที่เพื่อประชาชน
ประชาชนคนไทยแม้จะชอบดูหนังดูละครและร้องรำทำเพลง แต่ก็ใช่ว่าเขาจะอยากให้นักการเมืองทำตัวเป็นดารานักร้องนั้นไปด้วย แน่นอนว่าหลายคนอาจจะชอบสิ่งบันเทิงเริงรมย์ แต่ใช่ว่าจะต้องแสดงให้ดูในรัฐสภาที่ไม่ใช่เวทีเพื่อการแสดงความบันเทิงเหล่านั้นแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นในแต่ละอาชีพก็จะมีสิ่งที่เขาจะต้องเคารพบูชา อย่างเช่นดารานักร้องนักแสดงก็จะมี “พ่อครูแม่ครู” หรือสิ่งที่เคารพสักการะตามความเชื่อถือ ซึ่งจะต้องบวงสรวงเซ่นไหว้หรือมีพิธีกรรมเคารพบูชาตามสมควร ในทำนองเดียวกัน อาชีพนักการเมืองก็ต้อง “เคารพประชาชน” ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งสักการะบูชา” ที่นักการเมืองจะนอบน้อมและเคารพบูชา อย่างน้อยก็ให้เกียรติกับประชาชนที่อยูภายใต้การปกครองของนักการเมืองทั้งหลายเหล่านี้ เพราะนักการเมืองนี้ก็คือ “หน้าตา” ของประชาชน ตลอดทั้ง “หน้าตาของประเทศ” นั้นอีกด้วย ดังคำกล่าวของปราชญ์การเมืองท่านว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมือง(ผู้ปกครอง)ก็เป็นอย่างนั้น”
ผู้เขียนก็เป็นคนไทยคนหนึ่งซึ่งก็คงจะเหมือนกับคนไทยอีกหลายๆ คน ที่ไม่อยากมีหน้าตาเป็นตัวตลกแค่สร้างความเฮฮา หรือเป็นดาวร้ายสร้างความเครียดแค้นชิงชัง หรือเป็นคนมากเล่ห์เหลี่ยมเต็มไปด้วยมายาสาไถยอย่างที่เห็นนักการเมืองชอบแสดงกัน จึงอยากจะให้นักการเมืองทั้งหลายได้รับทราบและสำนึกบ้าง
สงสารคนไทยและรักษาหน้าตาของประเทศด้วยเถิด