วิกฤติแม่น้ำโขงแห้งขอดอย่างผิดธรรมชาติ ระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 50 ปี ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ด้วยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ปลามากกว่าพันชนิด และสัตว์ต่างๆที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสานหลายจังหวัด ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วว่า เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติทั้งในจีน ลาว และไทยปัจจัยต่อมา ได้แก่ เขื่อนจิ่งหง ที่กั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ลดระดับการระบายน้ำ และปัจจัยสุดท้ายที่กระทบแม่น้ำโขงในภาคอีสานโดยตรง คือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของ สปป. ลาว ขณะที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานงานจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งเป็นต้นฤดูน้ำหลาก มีระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยลดลงต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุดในอดีต แต่คาดการณ์การว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุอีกว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโขงทางตนบนของไทย ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึง เมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว ลงมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านหนองคาย ไปจนถึงเมือง เนียะเลิง ของกัมพูชา ต่ำสุดตั้งแต่ที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี 2535 ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดในรอบ 27 ปีMRC ยกตัวอย่างระดับน้ำที่วัดได้ที่ อ.เชียงแสน อยู่ที่ 2.10 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยในรอบ 57 ปี ที่ 3.02 เมตร ในช่วงเวลาเดียวกันของปี และต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่เคยวัดได้ประมาณ 0.75 เมตร ไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัย Stimson Center สหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า พบข่าวร้ายเกี่ยวกับแม่น้ำโขงซึ่งจากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าเมื่อวานนี้ (19 กรกฏาคม) ภาพถ่ายแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พบว่าแห้งกว่าในช่วงที่แห้งที่สุดในรอบศตวรรษของแม่น้ำโขงคือเมื่อเดือนเมษายน 2016 จนกระทั่งเห็นเกาะและหาดทายโผล่มาในภาพถ่ายเดียวเทียมชัดเจน แต่นี่เป็นเพียงภาพถ่ายดาวเทียม ควรมีการตรวจสอบกราฟแสดงระดับน้ำให้ชัดเจน น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้ฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับการใช้งานเขื่อนในประเทศจีนจนอาจทำให้เราเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่ระดับน้ำลดลงต่ำสุดในช่วงฤดูกาลนี้ซึ่งควรเป็นช่วงน้ำหลาก จนส่งกระทบต่อความสามารถของปลาอพยพที่จะว่ายไปสู่แหล่งอาศัยและวางไข่ตามตอนบนของแม่น้ำและลำน้ำสาขา อย่างไรก็ตาม ภายหลังจีนได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจี่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้ระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง เพิ่มเป็น 1,620 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมไม่กี่วันก่อนได้ระบายน้ำในปริมาณ 1,587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น สถานการณ์นี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย อยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อจีนสร้างเขื่อนขึ้นเป็น 10 แห่ง รวมทั้งสปป.ลาวเองก็สร้างขึ้นเป็น 10 แห่งเช่นกัน หรือแม่น้ำสายนี้จะถูกลบออกจากประเทศไทยในสักวัน ฝากรัฐบาลใหม่ช่วยคิด