เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
“คนไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่เป็นคนที่เรียนรู้ไม่เป็น” อัลวิน ทอฟเลอร์ (1928-2016) เจ้าของหนังสือ Future Shock, The Third Wave, และ Power Shift
ตรงกับที่นักคิด นักปรัชญา นักปฏิบัติการทางสังคมชาวเดนมาร์กอย่าง N. F. S. Grundtvig ได้พูดและลงมือทำตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 หรือประมาณ 150 ปีที่แล้ว เมื่อเขาได้ก่อตั้ง “โรงเรียนชาวบ้าน” (Folk High School) โดยเน้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช่ที่ใบปริญญา โรงเรียนชีวิตแบบเดนมาร์กจึงไม่มีการสอบ เรียนสิ่งที่อยากเรียน เรียนอย่างมีความสุข และนำไปใช้ในชีวิตได้จริง
อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่า เดนมาร์กปฏิเสธการศึกษาในระบบสากล เพียงแต่สังคมของเขาไม่ได้มีแต่ “ทางด่วนวันเวย์” ของการศึกษา แต่มีทางเล็กๆ ที่คดเคี้ยวเลี้ยวไปมาในธรรมชาติ และถึงจุดหมายปลายทางได้ นั่นคือ ทำให้คนพึ่งตนเองได้และมีความสุขได้ และไม่ได้ขัดแย้งหรือแข่งขันกับทางหลัก
ถ้าหาก “โรงเรียนชาวบ้าน” ฟังดู “บ้านนอก” และเรียก “โรงเรียนพลเมือง” ฟังดูดีกว่าก็ใช้ได้ แต่ในประเทศเดนมาร์กและประเทศสแกนดิเนวีย เยอรมนีและออสเตรียที่นำแนวคิดเรื่อง Folk High School ไปใช้อย่างแพร่หลาย เขาไม่ได้คิดว่าเป็นทางเลือกของคนบ้านนอกที่ไม่มีทางไป แต่ถือว่า เป็นทางเลือกที่เติมเต็มให้ชีวิตของผู้คน โดยไม่แบ่งแยก อายุ เพศ สถานะทางสังคม ศาสนา และระดับชั้นความรู้
ที่เดนมาร์กวันนี้มีโรงเรียนชาวบ้านอยู่ 76 แห่ง มีผู้เรียนอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปถึง 60-70 ปีหลายหมื่นคน แต่ละแห่งมีผู้เรียนเฉลี่ยประมาณ 200 คน มีหลักสูตรระยะสั้นระยะยาว หน้าร้อนจะมีหลักสูตรเรียนรู้แบบสั้นหลายวันถึงหลายสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่
หน้าหนาวหลักสูตรยาว 6-8 เดือน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 17-23 ปีที่มาเรียน โดยอาจจะเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือพักการเรียนมาหาความรู้ประสบการณ์การเรียนเพื่อการค้นหาตัวเอง เพื่อประสบการณ์ใหม่ๆ การพบปะกับผู้คนมากมาย มาหาเพื่อน หาแฟนก็ได้ในอีกแบบหนึ่ง
ผู้เรียนในโรงเรียนชาวบ้านจะกินนอนและเรียนในโรงเรียนนั้นๆ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เลือกเรียนสิ่งที่ตนเองอยากเรียนตามที่โรงเรียนเสนอหลักสูตรต่างๆ ซึ่งก็แตกต่างกันไป บางแห่งเน้นเรื่องการเมือง บางแห่งเศรษฐกิจ บางแห่งเรื่องกีฬา ดนตรี ศิลปะ เรื่องการเกษตร แล้วแต่ว่าจะคิดกันขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน แต่ก็มี “วิชาพื้นฐาน” เรื่อง “ชีวิต” การอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย
การเรียนในโรงเรียนพลเมืองไม่ใช่การเรียนหนังสือ แต่เน้นการเสวนาระหว่างอาจารย์กับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนเองมากกว่า เป็นโรงเรียนที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พราะดั้งเดิมนั้น Grundtvig บิดาของโรงเรียนพลเมืองอยากให้เรียนเรื่องประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางสังคมการเมือง ให้มีการแสดงออก ให้การเรียนรู้กับการดำเนินชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่
โรงเรียนพลเมืองของเดนมาร์กมีระเบียบการบริหารจัดการของตนเอง ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่าย อีกครึ่งหนึ่งได้จากค่าเล่าเรียนจากผู้เรียน ซึ่งไม่มากนักถ้าหากเทียบกับค่าครองชีพของเดนมาร์ก เพราะรวมค่าที่พัก อาหาร และการเรียนตลอดหลักสูตร
ประเทศไทยมีการศึกษานอกโรงเรียน แม้จะเรียก “Non-formal Education” แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการศึกษาในระบบแต่อยู่ “นอกโรงเรียน” ตามชื่อ การเรียนการสอนก็ยังเน้นที่เรียนเพื่อไปสอบให้ได้ขั้นการศึกษาในระบบ แม้จะมีหลักสูตรอบรมอาชีพ แต่ก็เป็นเรื่องเสริมเติมเข้ามาบ้างเท่านั้น
ค่านิยมใบปริญญาทำให้คุณค่าของการศึกษาอ่อนด้อย ได้ปริญญาแต่ไม่ได้ความรู้ มีคนจบปริญญาตรี โท เอก เต็มบ้านเต็มเมือง แต่บ้านเมืองไม่พัฒนา ล้าหลัง เพราะ “ประเทศต่างๆ พัฒนาเพราะเขาคิดเป็น” (โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์) คิดเป็นเพราะมีความรู้ มีปัญญา จึงสร้างนวัตกรรมสำหรับชีวิตและสังคมได้
การศึกษาในโรงเรียนพลเมืองที่เดมนมาร์กเน้นการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของผู้เรียน และให้เขาได้พัฒนาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในนั้นออกมา ให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เป็นอะไรที่คนอื่นคิดให้ กำหนดให้ เขาจึงไม่มีการสอบ ไม่มีการวัดผลด้วยมาตรวัดเดียวแบบในกระแสหลัก
ไอน์สไตน์บอกว่า “คนทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าคุณตัดสินปลาตัวหนึ่งจากความสามารถในการปีนต้นไม้ ปลาตัวนั้นก็จะเป็นเพียงไอ้โง่ตัวหนึ่งไปตลอดชีวิต”
สังคมเผด็จการจะมีมาตรฐานเดียว มีแต่คำสั่ง (top down) สังคมประชาธิปไตยจะให้โอกาสทุกคนค้นพบตัวเอง พัฒนาศักยภาพของตนเอง (bottom up) ไม่ตัดเสื้อไซซ์เดียวให้ทุกคนใส่ เปิดโอกาสให้คนพัฒนาตามศักยภาพของตน ซึ่งแต่ละคนมีอย่างล้นเหลือ สังคมไทยจะปฏิรูปหรือไม่ดูได้จากตรงนี้
ธุรกิจยุคใหม่สนใจความสามารถมากกว่าใบปริญญา คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากเป็นอิสระ เป็นผู้ประกอบการเอง การศึกษาทางเลือก เสริมทางหลักตอบสนองความต้องการของคนในโลกยุคใหม่ได้