แม้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะระดมมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามไปในหลายจังหวัด แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จะหนักหนาสาหัสเอาการ ที่สำคัญคือซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ
ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ภัยแล้งนอกฤดูกาล หรือภัยแล้งช่วงหน้าฝน ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้อย น้ำน้อยในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะข้าวนาปี เป็นพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาภัยแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 เนื่องจากตรงกับฤดูกาลเพาะปลูกอีกทั้งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 46.4 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่นอกเขตชลประทานมากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งภัยแล้งในช่วงนอกฤดูกาลดังกล่าวนี้ ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จึงยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร
ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาล (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่ต่ำกว่ำ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปีเป็นหลักหรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวต่อเนื่องได้อีกจากอิทธิพลของปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 ซึ่งอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดังนั้น คงต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะและอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขความเสียหายตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมถึงต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากความรุนแรงของภัยแล้งอาจมีระดับไม่เท่ากันในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ลากยาวเช่นนี้ อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไปในปี 2563 (พฤศจิกายน 2562-เมษายน 2563) โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลักที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่สำคัญคือข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อยก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และกระทบรายได้เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อเนื่องไปอีก รวมถึงในระดับภูมิภาค จะยังส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่และจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำรวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs
จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นการบ้านของเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นด่านหินด่านแรกที่จะทดสอบศักยภาพของนักการเมืองอาชีพ ที่เข้ามากุมบังเหียนในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ความท้าทายนี้มีปากท้องของประชาชนเป็นเดิมพัน ในขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดแล้งซ้ำซากและวงจรอุบาทว์ในทุกปี