การแถลงนโยบายรัฐบาล ภายหลังจากที่ "ครม.ใหม่" เข้ารับหน้าที่ ของรัฐบาลชุดใหม่ "ประยุทธ์ 2/1" คือกรอบดำเนินการที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะมีขึ้นเป็นเวลา2 วัน เบื้องต้น คือ วันที่ 25-26 ก.ค.นี้ ส่วนจะมีวันที่3 ตามที่ "ฝ่ายค้าน" พยายามกดดันและเรียกร้องได้หรือไม่นั้น "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า มีความเป็นไปได้ ซึ่งอยู่ที่การตกลงกันระหว่าง "วิปสองฝ่าย" ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แน่นอนว่าการแถลงนโยบายรัฐบาล ที่นำโดย "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น สำหรับฝ่ายรัฐบาลแล้วนี่คือช่วงเวลาที่ ครม.ชุดใหม่ จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากที่สุด ว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงกันเอาไว้นั้น จะไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า โดยนโยบายรัฐบาลนั้นนอกเหนือไปจากการแถลงต่อรัฐสภา แล้วยังต้องการให้ประชาชนได้เห็นว่า จากนี้ไป อะไรคือเรื่องเร่งด่วน อะไรคือการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่สังคมจะสามารถจับต้องได้ ขณะที่ฟากฝ่ายค้านเอง ก็ต้องถือว่าห้วงเวลานี้ คือ "โอกาสทอง" ที่จะใช้ "เขย่า" รัฐบาลให้ได้มากที่สุดในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย ไปจนถึง "คุณสมบัติ" ของ "นายกฯ" ไปจนถึง "รัฐมนตรี" ว่ามีเพียงพอและเหมาะสม ที่จะขึ้นมานั่งบริหารมากน้อยแค่ไหน และเมื่อพูดถึง "คุณสมบัติ" ของหัวหน้ารัฐบาลไปจนถึง พรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงกลายเป็น "เรื่องใหญ่" โดยเฉพาะตัวนายกฯและรัฐมนตรีที่มีความสำคัญต่อกระทรวงขับเคลื่อนภารกิจหลักๆ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งนี้สำหรับพรรคฝ่ายค้านเองที่รอบนี้จะมี "พรรคเพื่อไทย" เป็นแกนหลักในการนำทัพอภิปรายนโยบายรัฐบาล เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ แม้จะ "ฟอร์มสด" แต่ยังไม่เชี่ยวชาญเกมในสภาฯมากพอ และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนใหม่ มีการเปิดให้อภิปราย ก็พอที่จะประเมินกันได้ว่า "ฝีมือ" และ "หมัดเด็ด" ของฝ่ายค้านจะหนักหนา และรุนแรงหรือไม่ อย่างไร ? อย่างไรก็ดี สำหรับ "3 ป." อันประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ , "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ "บิ๊กป๊อก"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ต้องรับมือกับ "บททดสอบ" ด่านแรกคือการอภิปรายนโยบายให้ผ่านฉลุยมากที่สุดแล้ว ยังต้องไม่ลืมว่า สำหรับ รัฐมนตรี จากพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ใช่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ "ปลอดภัย" โดยเฉพาะในรายที่เคยติดโผ ที่ฝ่ายค้านจัดคิวถล่ม ทั้งด้วยคุณสมบัติ ไปจนถึง "ประวัติส่วนตัว" ที่มีมาแต่หนหลัง มิหนำซ้ำรัฐมนตรีในรายที่เป็นเหมือน "เป้าโจมตี" ยังไม่เคยผ่านงานในสภาฯมาด้วยเช่นกัน สำหรับฝ่ายค้านแล้ว เวทีรัฐสภา ในการอภิปรายนโยบายรอบนี้ แม้จะรู้ดีว่าที่สุดแล้ว รัฐบาลอาจจะไม่ระคายเคือง หรือนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด การเปิดเกมเพื่อ "จุดประเด็น" ในสภาฯ ก่อนที่จะนำออกมา "ขยายแผล" กันที่นอกสภาฯ คือแผนการเล่นที่มีความเป็นไปได้ และเกิดผลลัพธ์ที่จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ทางด้านรัฐบาลเอง ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่สำคัญโดยเฉพาะ "3 ป." ที่จะได้เรียนรู้และสัมผัส กับโลกแห่งการเมือง ของจริง โดยไม่ใช่สแตนอิน !