สถาพร ศรีสัจจัง
ใครที่สนใจทางวัฒนธรรมศึกษาย่อมรู้ดีว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเคลื่อนตัว ไปตามอำนาจของ “โปรแกรมเมอร์” ลึกลับ (ที่จริงไม่ลึกลับอะไรนัก) ที่มาถึงโลกพร้อมกับระบบที่มีชื่อเรียกมากมายหลายนาม ตามแต่เป้าประสงค์ของผู้ใช้ อาจเรียกว่า โลกาภิวัตน์ ระบบการค้าเสรี หรือยุคโลกไร้พรมแดน ฯลฯ
เฉพาะคำ “โลกาภิวัตน์” ในภาษาไทย ที่ใช้แทนคำฝรั่งอังกฤษ “Globalization” คำเดียว ก็อาจให้ความหมายเกี่ยวการเคลื่อนเปลี่ยนสังคมโลกยุคปัจจุบันได้อย่างเป็นรูปธรรม
ใน “คลังศัพท์ไทย” ของ สวทช.ได้นิยามความหมายคำ “Globalization” ไว้แบบที่ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย จึงขอยกมาให้ดูกันสักหน่อยปะไร เขาว่าไว้ดังนี้
“กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ในส่วนต่างๆของโลกมีความเหมือนกัน และสัมพันธ์ใกล้ชิดเปรียบเหมือนประเทศเดียวกัน เช่น นักลงทุนที่ลอนดอนสามารถ ซื้อหุ้นของญี่ปุ่นโดยไม่ต้องผ่านบริษัทตัวแทนที่อยู่ในกรุงลอนดอนอีกทีหนึ่ง สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ เนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสาร...”
หากใช้กระบวนทัศน์ (Paradign) ทางสังคมศาสตร์แบบตะวันตกสกุล “ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง” (Theory of conflict) ไปอธิบายปรากฏการณ์ “การทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวทางวัฒนธรรม” ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ก็อาจสามารถอธิบายได้ง่ายๆว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีได้รับชัยชนะในทุกพื้นที่หลักของโลก ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวซึ่งกลายเป็นโครงสร้างชั้นล่างหรือโครงสร้างรากฐานก็จะทำให้โลกกลายเป็นโลก “ทุนนิยมผูกขาด” ไปอย่างเท่าเทียม
และโครงสร้างชั้นล่างดังกล่าวนี้เองที่จะไปกำหนดให้ “โครงสร้างชั้นบน” (Superstructure)ของผู้คนชาวโลกทุกชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทุก “รัฐชาติ” ให้ถูกกลืนกลายทางวัฒนธรรม ที่หมายถึง ระบบการปกครอง(การเมือง) กฎหมาย ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ เปลี่ยนแปรไปตามข้อกำหนดของระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมผูกขาด
แล้วลงรากลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงระดับปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค!
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ “โปรแกรมเมอร์” ของยุคสมัยเช่นนี้คือบรรดา “จักรพรรดินิยม” อันได้แก่กลุ่มทุนผูกขาดที่ทรงอำนาจอยู่เบื้องหลังชาติจักรพรรดินิยมทั้งหมดของโลก(ทั้งทางตรงคือเห็นตัวตนเช่นมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการ และทางอ้อมคือไม่แสดงให้เห็นตัวตนเป็นบุคคล) จะแบ่งคนในโลกเป็น 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มเจ้าของทุนผู้เป็นเจ้าของสินค้า และกลุ่มผู้บริโภคสินค้า (Consummer) อันหมายถึงบรรดาแรงงานรับจ้าง (Wage labor) และชาวบ้านทั่วไป
นั่นหมายความว่า ผู้คนทั้งโลกจะต้องถูก “โปรแกรม” ให้มีค่านิยมในการ “บริโภค” ปัจจัย 4 และ “สิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม” (เช่น ระบบ “ความดี”/ระบบ “ความจริง” และระบบ “ความงาม”) ที่เหมือนกันทั้งโลก
และนั่นย่อมหมายความว่า ทุกอย่างที่จะบริโภคต้องถูกแปรให้อยู่ในรูปของ “สินค้า” เท่านั้น คำ “สินค้า” ในระบบทุนนิยม หมายถึงสิ่งประกอบสร้างทั้งปวงที่สามารถแจงนับหรือประเมินเป็น “มูลค่า” ได้ ไม่หมายถึงสิ่งอื่นใดที่มีเพียง “คุณค่า”(สำหรับมนุษย์) แต่ไม่สามารถประเมินเป็น “มูลค่า” ได้
ในสังคมเช่นนี้ ทุกอย่างจึงย่อมถูกทำให้กลายเป็น “สินค้า”ไปทั้งหมด รวมถึง “คน” !
ในสังคมเช่นนี้ จึงไม่ต้องการ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ไม่ต้องการ “พหุวัฒนธรรม” (ไม่ว่าปากจะพูดอย่างไร) และการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม(Cultural interaction )ก็จะเป็นการปะทะเชิงอำนาจ อันจะนำไปสู่ “การกลืนกลายทางวัฒนธรรม” (Acculturation)คือการทำให้ “ราก” ของวัฒนธรรมที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ(ที่ส่งผลถึงอำนาจทางการเมือง) ด้อยกว่า ต้องขาดสะบั้นลงทั้งในระดับสังคมและระดับบุคคล ไม่ใช่ “การบูรณาการทางวัฒนธรรม” (Cultural integretion) ที่จะนำไปสู่ “การผสมผสานทางวัฒนธรรม” (Cultural assimilation)!
ตัวอย่างรูปธรรมของอาการดังกล่าวนี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมไทยปัจจุบัน!!!!