ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับการประคับประคองรัฐบาลผสม 19 พรรคที่มีเสียงปริ่มน้ำ ที่ไม่เพียงต้องใช้ศิลปชั้นสูงในการบริหารจัดการภายในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และภายในพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลก็ยังต้องระวังตัวในการทำงานและดำเนินนโบายต่างๆ ไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อศรัทธาของประชาชน โดยในร่างนโยบายได้บรรจุ 12 นโยบายหลัก ประกอบด้วย1.ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.สร้างความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3.ทำนุบำรุงศาสนาและวัฒนธรรม 4.การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5.การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย 6.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 7.การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 8.ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของไทยทุกช่วงวัย 9.สาธารณสุข ความเสมอภาคและสวัสดิการที่เหมาะสมกับกลุ่มประชาชน 10.การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 12.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 12 เรื่อง ประกอบด้วย 1.แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน 2.ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการผันผวนของเศรษฐกิจโลก 4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 5.พัฒนานวัตกรรมการยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7.การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 8.แก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ 9.แก้ไขปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 10.พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11.สนับสนุนให้มีการศึกษาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและดำเนินเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 12.การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แม้การแถลงโยบายรัฐบาล ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ จะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายค้าน โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่ระบุว่า การอภิปรายนโยบายรัฐบาล พรรคเพื่อไทยอภิปรายบุคคลที่กำกับนโยบาย 1.นายกรัฐมนตรี 2.รัฐมนตรี ว่าจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ 3.ผู้ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เช่น ข้าราชการ ที่เป็นแข้งขาของรัฐบาล ว่าเขามีความพร้อม มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ 4.การมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพราะประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ และเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ 5.สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช.เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 6.เป็นไปตามแผนปฏิรูปหรือไม่ นพ.ชลน่าน ยังบอกว่าจะหยิบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ก้ำกึ่งไม่ผ่านรอบคัดเลือกเพราะมีประวัติสีเทา อย่างน้อย 7 คน มาอภิปรายคุณสมบัติเรียงตัว ดังนั้น แม้จะไม่ใช่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีการลงมติใดๆ แต่ในทางการเมือง ย่อมได้รับความเสียหาย กระทบภาพลักษณ์ เพราะในการอภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรีนั้น บรรดาขุนพลพรรคฝ่ายค้านย่อมจะต้องเปิดแผลของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 6 กระทรวงออกมาชำแหละ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมประการต่างๆ ชนิดที่บางรายอาจบอบช้ำสะบักสะบอม แต่กระนั้นยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ณ ตอนนี้ ทำให้บรรดาส.ส.ฝีปากกล้าทั้งหลาย ที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์บรรดารัฐมนตรี มีความสำคัญ และจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 และพ.ร.บ.การเงินต่างๆ นี่เองจึงต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการ ทั้งกลุ่มก๊วนภายในพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย