ทีมข่าวคิดลึก ข่าวลือที่กำลังกลายเป็น "ประเด็น" สามารถ "สร้างกระแส" พลิกให้ฝ่าย "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"หรือ คสช. กลับมาเป็นฝ่ายกำหนดความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยใช้ "การข่าว" เป็นตัวขับเคลื่อนที่น่าสนใจ ย่อมไม่พ้น เรื่องที่ว่าด้วยการขู่สังหาร "2 บิ๊กคสช." ผ่านโลกโซเชียลเพราะวันนี้ แม้จะยังไม่ปรากฏว่า"มือดี" ที่ออกมาท้าทายประกาศขู่ฆ่าระดับบิ๊กรัฐบาล และ คสช. ทั้ง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมทั้ง "พี่ใหญ่" อย่าง " บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน คือการที่ฝ่ายการเมืองทุกขั้วทุกฝ่ายต่างพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตกันไปต่างๆ นานาจนทำให้เรื่องนี้กลายเป็น ทอล์ก ออฟเดอะ ทาวน์ แน่นอนว่า เมื่อเรื่องการขู่ฆ่าถูกนำไปผูกโยงกับจังหวะของการสร้างความปรองดอง โดยรัฐบาล และ คสช. ที่กำลังเดินหน้าอย่างแข็งขัน นัยว่าต้องการให้มีการปรองดองเกิดขึ้น ก่อนการเลือกตั้งก็ยังดี ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อ"กรรมการห้ามมวย" อย่างบิ๊ก คสช.ยังถูกขู่ฆ่า เช่นนี้ แล้วการปรองดองจะเดินหน้าต่อไปได้ราบรื่นหรือไม่ ทั้งนี้ในความเป็นจริง อีกด้านหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือ ลึกๆ แล้ว"นักการเมือง" เอง ยังไม่มีใครเชื่อมั่นได้เลยว่าจะมีการปรองดองเกิดขึ้นได้จริงหรือ คสช. และรัฐบาลนั้นมีความ "ตั้งใจจริง" ที่จะทำให้เกิดการปรองดองขึ้นมาหรือไม่ ? เพราะการมาทำ "งานใหญ่" ในจังหวะที่เริ่ม "นับถอยหลัง" อายุรัฐบาลเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เช่นนี้ มีแต่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเร่งรัด และที่สำคัญ "ความขัดแย้ง" ทางการเมืองย่อมไม่ได้สร่างซาลงภายในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน ดังนั้น นี่จึงเป็น "ข้อกังขา"ว่าแท้จริงแล้วการส่งสัญญาณปรองดองจาก คสช. และรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งเช่นนี้ ที่สุดแล้วคือการบีบให้ "ทุกขั้วทุกสี" ต้องเข้าสู่กระบวนการ "สงบศึก" ก่อนลงเลือกตั้งให้มากที่สุด เท่าที่จะเกิดขึ้นได้ เท่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนยังมั่นใจว่า "เป้าหมาย" ที่จะสลายพรรคการเมืองใหญ่ โดยผ่านกลไกในรัฐธรรมนูญ นั้นยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพื่อเปิดทางให้กับ "พรรคใหม่" พรรคเล็ก มากขึ้น ที่จะมีโอกาสได้ "ขายนโยบาย" ขึ้นมาแข่งขันกับพรรคใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ซึ่งถูกกันให้ห่างจากประชาชน ตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา แม้บรรดาอดีต ส.ส. และแกนนำสองพรรคใหญ่ จะอาศัยการลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน ตามจังหวัดต่างๆทั้งการไปร่วมงานบุญ ร่วมกิจกรรมต่างๆหรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อประสบภัยพิบัติก็ตาม แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า เมื่อรัฐบาล-คสช. คือฝ่ายที่คุมอำนาจรัฐถือนโยบายต่างๆ เพื่อบริหารและขับเคลื่อนประเทศเอาไว้ในมือ นั่นหมายความว่า"โอกาส" ที่จะใช้นโยบาย และเม็ดเงินงบประมาณ กระจายลงไปเพื่อให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ ย่อมเป็นไปได้มากกว่า ความแตกต่างระหว่างฝ่ายกุมอำนาจรัฐ อย่างรัฐบาล คสช. เช่นนี้ ฝ่ายการเมืองเองรู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ เมื่อการเลือกตั้งมาถึง อีกทั้งยังไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า เมื่อวันเปิดสนามเลือกตั้งมาถึงจะไม่มี "พรรคนอมินี" ของ คสช. อวตารลงสนามมาแข่งขันกับสองพรรคใหญ่ที่ถูกบีบจนช้ำ เงื่อนไขต่างๆ ทั้งในทางการเมืองและการบริหารบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุและ เงื่อนไขที่จะส่งผลต่อการ "เลือกเดิน"ของฝ่ายการเมืองบนถนนปรองดองทั้งสิ้น !