ทีมข่าวคิดลึก ภาพเหตุการณ์ในบ้านเมือง ถูกคาดการณ์และวาดภาพกันไปตาม "ข้อมูล" ของแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่มกันแล้วว่า เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นการลงประชามติ7 สิงหาคม กันไปแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร "ร่างรัฐธรรมนูญ" และ "คำถามพ่วง" จะผ่านหรือไม่ หรือมีตัวเลขประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงทั่วประเทศ มากน้อยแค่ไหน จะกลายเป็น "เงื่อนไข"หรือปัจจัยสำคัญที่ "ฝ่ายต่อต้าน" นำไปใช้ "ขยายผล" เดินหน้าถล่ม "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ให้ซวนเซได้หรือไม่นั้น ดูเหมือนว่า คสช.ได้เตรียมแผนการเล่นเอาไว้รองรับเรียบร้อยเอาไว้ทุกทางหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นเกมการเล่นที่ คสช.ต้องประเมินแล้วว่า จะสามารถควบคุม และ"สะกด"ไม่ให้"คลื่นใต้น้ำ" สามารถลุกขึ้นมาต่อกรในทางใดทางหนึ่งได้อีกด้วย การสะกดฝ่ายตรงข้ามของ คสช.ก่อนหน้าที่จะมีการทำประชามติ เมื่อวันที่ 7สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการด้วยกันในหลายทาง ทั้งผ่านกลไกของรัฐ ไปจนถึงการ "ล็อก" แกนนำเครือข่ายการเมืองหลักๆที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย จนเกิดเป็น"เชียงใหม่โมเดล"เมื่อนักการเมืองท้องถิ่น ตระกูล "บูรณุปกรณ์" ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้าตรวจค้นและพบหลักฐานเชื่อมโยงกับการทำเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ"ตัดไม้ข่มนาม" ไม่ให้ "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์"แกนนำเพื่อไทย ได้มีโอกาสขยับ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ บรรยากาศทางการเมืองได้เคยถูกคาดการณ์กันเอาไว้ว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติหรือไม่ และหากผ่าน จะผ่านด้วยคะแนนมากน้อยแค่ไหน ไปจนถึงการพุ่งเป้ามองไปยังจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ จากจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศกว่า 50 ล้านคน ทว่าที่สุดแล้ว คำตอบสุดท้ายที่ชัดเจนเหนือความวุ่นวายทางการเมืองคือการที่ คสช.ยังคงอยู่ต่อไปจนถึงวันที่"ครม.ใหม่" จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตามที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีได้แจกแจงผ่านสื่อเอาไว้ชัดเจน ขณะที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนวันลงประชามติว่า ไม่ว่า "รัฐบาลใหม่" จะเป็นใคร แต่"ทหาร" ก็จะต้องช่วยเหลือประชาชนต่อไปยังเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน โดยไม่เปลี่ยนแปลง ! แน่นอนว่าการให้คำมั่นจาก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ประชาชนวางใจและอุ่นใจว่า ทหารจะไม่ทิ้งประชาชนนั้นอาจทำให้ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ "ขั้วอำนาจเก่า" ของ "ทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกฯ ต้องอยู่ในสภาพที่อึดอัดคับข้องใจต่อไปอีกยาวนาน ไม่เช่นนั้นแล้วทักษิณคงไม่ส่งสัญญาณผ่าน "สื่อนอก" ทั้งการโจมตีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามตินั้นเป็นฉบับ "งี่เง่าไร้ประโยชน์" แล้วยังทิ้งระเบิดเอาไว้ด้วยว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็ต้องพบกับปัญหา ในการบริหารประเทศ ""ผมขอพยากรณ์ว่า แม้กระทั่งรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่จากระบอบปกครองปัจจุบัน รัฐบาลนั้นก็จะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่ตนเองจะจัดการเศรษฐกิจของไทย หรือบริหารประเทศภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เสนอกันออกมาเหล่านี้" (4 ส.ค.2559)การดำรงอยู่ของ คสช. นับจากนี้ต่อไปดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกินไปจากความคาดหมายของนักการเมืองหรือกลุ่มคนในแวดวงการต่างๆ แต่อย่างใดเพราะไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ ในรูปลักษณ์ใด หากแต่ "เป้าหมาย" ยังคงเอาไว้เช่นเดิม แต่การที่อยู่นาน สำหรับคสช. นั้นอาจมีความแตกต่างไปจากการรัฐประหารในหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะหลังจากที่ คสช.จะพลิกมุมเล่นเพื่อเข้าสู่โหมดของการ "ซื้อใจ"ประชาชน สะสม "ฐานคะแนนเสียง"ผ่านแม่น้ำสาย ครม. อย่างเข้มข้น !