เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติประณามประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องเพราะไปไล่ส.ส.หญิงสีผิวสี่คนให้ “กลับไปที่พวกคุณมา” อ้างว่า “พวกนี้ไม่รักอเมริกา”
ทำให้โดนสวนกลับว่า บรรพบุรุษของนายทรัมป์เองก็อพยพมาจากยุโรป ควรกลับไปด้วยเหมือนกัน คนอเมริกันเกือบทั้งหมดอพยพมาจากยุโรปและทั่วโลก ต่างกันแต่ว่าใครมาก่อนมาหลังเท่านั้น คนพื้นเมืองต่างหากที่อยู่ที่นี่มาเป็นพันๆ ปี ที่ถูกคนขาวไปรุกราน เข่นฆ่าจนแทบจะสูญพันธุ์
แต่โพลสำรวจพบว่า ชาวรีพลับลิกันอเมริกันกลับเห็นด้วยกับนายทรัมป์และเพิ่มจำนวนมากกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นความแยกแตกและความรู้สึกลึกๆ ของคนอเมริกันจำนวนมากครึ่งค่อนประเทศที่คิดแบบนายทรัมป์ ยังแบ่งแยก เหยียดผิว
จนนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ เองทนไม่ได้ ประณามด้วยคำพูดที่รุนแรง เหน็บด้วยว่า นายทรัมป์ต้องการทำให้อเมริกาไม่ใช่ “great again” แต่ “white again” กลับไปสู่ยุคที่คนขาวครองเมือง ยุคโบราณที่คนผิวขาวเป็นนาย คนผิวดำเป็นทาส และรังเกียจเหยียดผิว
ที่อ้างด้วยความภูมิใจว่าอเมริกาเป็นชาติที่หลอมรวมผู้คนเชื้อชาติต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวนั้น (melting pot) เป็นเพียงความคิดหวัง (wishful thinking) เท่านั้น ในความเป็นจริงก็เห็นชัดว่า มีความแตกแยก แบ่งแยก ความเหลื่อมล้ำ หลายมาตรฐาน หลายชนชั้นในสังคมอเมริกัน “อยากดูคนในชาตินั้นเป็นอย่างไรก็ดูว่าเขาเลือกผู้นำหรือผู้แทนของเขาอย่างไร”
นายทรัมป์บอกว่า ถ้าพวกคุณไม่รักอเมริกาก็ไปจากประเทศนี้เสีย เขาพูดเหมือนคนไทยบางคนที่ไล่คนที่วิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง “ติเพื่อก่อ” แยกแยะด้วยเหตุด้วยผลได้ว่าไม่ใช่เพราะความเกลียดชังประเทศไทย แต่เพราะอยากเห็นบ้านเมืองนี้ดีขึ้น อยากเห็นผู้นำเข้มแข็ง รัฐบาลมีธรรมาภิบาลและแก้ปัญหาพัฒนาประเทศได้ อยากเห็นหน่วยงานต่างๆ ทำงานอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์ก็ดี การตอบโต้ของผู้ถูกวิจารณ์ก็ดี ในแวดวงการเมืองนั้นก็ทราบกันดีว่า มีผลประโยชน์ “ส่วนตน” อยู่ไม่น้อย แอบอ้างว่าเพื่อ “ส่วนรวม” ร่ำไป ศรีธนญชัยไปได้เสมอ
ความหลากหลายทางความคิดเห็นเป็นธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย ที่มีลักษณะสำคัญ คือ เอกภาพในความหลากหลาย ความสามัคคีในความแตกต่าง เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองเจริญพัฒนา
สังคมไทยก็ใช่ว่าจะไม่มีความขัดแย้งการเหยียดผิวและเผ่าพันธุ์ ดูแต่ภาษาที่ใช้ก็สะท้อนความรู้สึกเหนือกว่า การเหยียดคนชาติพันธุ์อื่น อย่าง “เจ๊ก” “แกว” “แม้ว” “ลาว” วันนี้อาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือระมัดระวังกันมากขึ้นในการใช้ภาษา แต่ก็จะไม่สามารถปกปิดความรู้สึกลึกๆ ของการเหยียดชาติพันธุ์ของ “คนไทย” อีกจำนวนไม่น้อยได้ ไม่เพียงแต่ผู้คนในชาติ แต่รวมไปถึงคนต่างชาติ ประเทศเพื่อนบ้าน
คนไทยแท้จริงๆ คงบอกไม่ถูกว่าเป็นใคร เพราะร้อยพ่อพันแม่ ร้อยเผ่าพันธุ์มาแต่ไหนแต่ไร ล้วนแต่เป็น “ผู้อพยพ” มาจากที่อื่น มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แหลมทองแห่งนี้ อยู่ที่ว่าใครอยู่ก่อน มาก่อน ใครตามมาทีหลัง ไม่ว่าจะมาเอง อพยพมา หรือถูกต้อนเป็นเชลยมา
ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า “ไม่ว่าจะเป็นโบราณสมัยหรือปัจจุบัน ความหลากหลายของประชากรสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้สังคมทุกสังคมเสมอมา” (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จาก “คนไทยไม่ใช่ไทยแท้” ในหนังสือ “พี่น้องเดียวพี่น้องกัน” หน้า 109)
พระไพศาลบอกว่า “มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ล้วนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง แต่ชาตินิยมทำให้คนมองไม่เห็นจุดร่วมหรือความเหมือนระหว่างมนุษยชาติ พูดแบบพุทธ คือ อุปาทาน (ความติดยึด) ทำให้มองไม่เห็นความจริงอย่างครบถ้วน อุปาทานในชาติทำให้เราลืมไปว่าก่อนที่เราจะเกิดเป็นคนไทยหรือเขมรนั้น เราเกิดเป็นมนุษย์ก่อน ความเป็นไทยหรือความเป็นเขมรนั้นเป็น “ยี่ห้อ” ที่เกิดขึ้นภายหลัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นสมมติ แต่เรากลับยึดสมมตินี้จนเอามาแบ่งแยกว่า ใครเป็นพวกเรา และใครเป็นพวกเขา”
“เมื่อไรที่เราเลิกยึดติดกับยี่ห้อที่เรียกว่า “ชาติ” เราจะพบว่า แวดวงของ “พวกเรา” นั้นขยายกว้างออกไปจนสามารถครอบคลุมคนทั้งโลก ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราไม่ยึดติดกับยี่ห้อที่เรียกว่า “มนุษยชาติ” เราจะรู้สึกเลยว่า “พวกเรา” นั้นขยายกว้างรวมไปถึงสัตว์ พืช และธรรมชาติทั่วทั้งโลก” (จาก “ไปพ้นจากพวกเรา” ในหนังสือ “พี่น้องเดียวพี่น้องกัน” หน้า 7-8)
สงครามในประวัติศาสตร์แต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นความขัดแย้งบนฐานของความแบ่งแยกแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ ความเชื่อและอุดมการณ์ เมื่อรบกันล้มตายไปมากแล้วก็แยกกันอยู่ แตกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างอดีตสหภาพโซเวียต อดีตยูโกสลาเวีย มาจนถึงกรณีเผ่าพันธุ์ต่างๆ และชาวโรฮิงญาในพม่า และในอีกหลายประเทศทั่วโลก
มหาตมะ คานธี, โฮจีมินห์, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, เนลสัน แมนเดลา คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ที่อยู่บนฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน
ท่านเหล่านี้ คือ ต้นแบบของจิตวิญญาณสากล ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคและเสรีภาพ
ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างนายทรัมป์ ปลุก “จิตวิญญาณสากล” ให้ลุกโชนขึ้นเพื่อยืนยันว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ไม่ใช่เพียงอุดมคติ แต่คือเป้าหมายสำคัญที่ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ต้องร่วมกันทำให้เป็นจริง ก่อนที่โลกจะมอดไหม้ไปด้วยความแตกแยก เกลียดชังและไฟสงคราม