ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สถานการณ์การเมืองไทยยังไม่นิ่ง แม้จะมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ต้องผ่านด่านสำคัญ ในการแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25-26 กรกฏาคม 2562 ไปก่อน อย่างไรก็ตาม การบ้านข้อใหญ่ของทีมเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับปัญหา ด้วยล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนมิถุนายนว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวลดลง 2.15% เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ติดลบถึง 6.20% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน เป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับความพยายามในการเจรจาแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขการนำเข้า มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.4% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 6 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 2.9% การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.4% และการค้าเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่าลดลง 9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 11.8% ในตลาดจีน สหรัฐฯ อินเดีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เครื่องดื่ม ขยายตัว 2.8% ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน ลาว สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วนสินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ลดลง 34.6% ในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน โดยรวม 6 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตร ขยายตัวลดลง 2.2% ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด หรือธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ไตรมาสที่ 2/2562 ว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ 76 ตัวอย่าง พบว่าดัชนีฯ ในไตรมาสที่ 2/2562 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด ลดลงจากไตรมาสที่ 1/2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 51.5 จุด จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ยังครอบคลุมบรรยากาศการส่งออก และปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้สัญญาณการจับจ่ายใช้สอยไม่โดดเด่นในช่วงนี้ แต่ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าหลักทรัพย์ (เอ็มทีเอสไอ) ในช่วง 2/2562 เกินกว่า 50 จุด เกือบทุกตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในด้านของการค้ายังสามารถเติบโตได้ ในส่วนของปัจจัยลบ ยังมีเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ พืชผลบางชนิดมีการปรับราคาขึ้นไม่มากทำให้บั่นทอนรายได้ของประชาชน ในช่วงไตรมาสที่ 2/2562 รวมถึงในเรื่องของภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ทำให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปไม่กล้าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ปัญหาดังที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ท้าทายการบริหารจัดการของฝ่ายรัฐบาล และศักยภาพของนักการเมืองฝ่ายค้านในการช่วยเหลือประชาชน ตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ใช่เพียงแค่ใช้น้ำลายสร้างผลงานหรือตอบโต้กัน