สมบัติ ภู่กาญจน์
เหมือนดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า ผมมี ‘อาจารย์’ ที่แท้จริงอยู่หนึ่งคน
ซึ่งมีคุณสมบัติตาม ‘อาจาริยคุณ 25 ประการ’ ที่ผมได้กล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า เป็นอาจารย์ที่ให้ทั้งความรู้ความคิด ทั้งในระบบและนอกระบบ สารพันมิติและสารพัดความรู้ที่จะพร่ำพรรณา นอกจากนั้นยังให้ทั้งอาหารใจอาหารกาย อีกทั้งยังไม่ทิ้งศิษย์ยามเมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้นมา
อาจารย์ของท่านผมท่านนั้น ชื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งขณะนี้ตายไป 22 ปีแล้ว แต่คำสอนหลายอย่างของท่านยังไม่เคยตายไปจากผม จนถึงวันนี้ หลายคำสอนนอกจากจะอยู่ในใจผมแล้ว ยังมีลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่แจ้งชัด ดังเช่นคำสอนหนึ่งซึ่งถ่ายทอดสู่สาธารณะไว้ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2510 กลับมาระลึกถึงในวันนี้ คำสอนนั้นก็ยังไม่ล้าสมัยและน่าฟังน่าคิด และน่าบอกเล่าต่อ ให้คนที่ยังไม่เคยฟังได้ฟังแล้วคิดว่า แนวคิดของอาจารย์ที่สอนศิษย์อย่างนี้ เราเห็นด้วยหรือไม่?และแค่ไหนเพียงใด?
เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งเมื่อห้าสิบปีมาแล้ว “ช่องว่างในการติดต่อสื่อสาร”ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ก็ยังมีอยู่ไม่ต่างจากปัจจุบัน แต่ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่าทุกวันนี้ช่องว่างนี้กว้างขึ้นใหญ่ขึ้น และน่าเป็นห่วงมากขึ้น จนทำให้ผมต้องนั่งคิดถึงคำสอนที่ผมเคยผ่านการเรียนรู้ และคิดถึงอาจารย์ของผมท่านนี้ขึ้นมา
“อาจารย์คึกฤทธิ์” เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในตอนหนึ่งของ หนังสือชื่อ “โลกส่วนตัว(ของผม)” ที่สำนักพิมพ์ก้าวหน้าพิมพ์ขึ้นเมื่หอปีพ.ศ. 2511 ก่อนที่ผมจะเริ่มชีวิตการทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐหลังจากจบมหาวิทยาลัย อาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางไปต่างประเทศ แล้วก็เขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งต่างๆที่เห็นพร้อมกับข้อคิดข้อเปรียบเทียบ แล้วก็มีความตอนหนึ่งที่วกมาถึงเรื่องผู้ใหญ่กับเด็ก ดังนี้
“ ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินเสียงตำหนิติเตียนเด็กไทยสมัยปัจจุบันกันอยู่บ่อยๆ ว่า เด็กทุกวันนี้ไม่สนใจใยดีต่อขนบธรรมเนียมประเพณีหรือศิลปวัฒนธรรมไทย แต่พากันไปนิยม ‘ของฝรั่ง’กันเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็ยังมีเสียงตำหนิอีกว่า เด็กไทยทุกวันนี้กำลังประพฤติย่อหย่อนในศีลธรรมจรรยา หรือขาดมารยาทไทยลงไปทุกวัน
ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงตำหนิเหล่านี้ ผมก็อดเห็นใจเด็กไม่ได้”
แค่เริ่มต้นความนี้ ก็ทำให้ผมคิดถึง ‘อาจาริยคุณ 25 ประการ’ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ระบุว่า อาจารย์ที่ดีต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวสารพัดอย่างที่มีอยู่ในตัวเด็ก รู้แล้วก็ต้องมีความตั้งใจในการที่จะสอนเด็ก ให้รู้ ให้เข้าใจในปัญหา หรือประพฤติปฏิบัติการต่างๆให้เหมาะสมดังที่ผู้ใหญ่คิด และที่สำคัญที่สุดอาจารย์จะต้องมีธรรมะที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความเมตตา
ความเมตตาที่สร้างประโยคว่า“ผมก็อดเห็นใจเด็กไม่ได้” นั้น ติดตามต่อมาด้วยข้อเขียนดังนี้
“เพราะผมมีความเชื่อว่า การที่เด็กจะมีความสนใจในสิ่งใด ตลอดจนจะมีความประพฤติที่ดีเลวอย่างไรนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนของผู้ใหญ่เป็นสำคัญ ซึ่งการอบรมสั่งสอน อาจจะทำด้วยการพูดจากับเด็กอย่างตรงไปตรงมาหรือวิธีการสอนอยางไรก็ตาม ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมว่า การสอนด้วยวาจาหรือวิธีการต่างๆนั้น บางครั้งก็อาจจะไม่ได้ผลนัก ถ้าหากว่า เด็กจะไม่ได้เห็นตัวอย่างอันดี ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกวัน”
ขออนุญาตเพิ่มความเห็นอีกนิดว่า
โลก ในขณะที่อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเรื่องนี้ นั้น อยู่ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2510 ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างในยุคดังกล่าว แตกต่างจากโลกในยุคปัจจุบันนี้อย่างมากมายเหลือคณา แต่ถึงกระนั้น ยังมีความไม่แตกต่างกันอยู่สิ่งหนึ่ง ก็คือ “ตัวอย่างอันดี ที่ผู้ใหญ่จะทำให้เด็กเห็นในชีวิตประจำวัน” นั้น เป็นสิ่งที่หาดูได้ไม่ง่ายเลย อาจารย์คึกฤทธิ์จึงต้องเขียนหนังสือย้ำในประเด็นนี้ ก่อนที่จะขยายความต่อไป ว่า
“ แม้ตัวผมเอง มาดูตัวเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ในทุกวันนี้แล้ว ก็ลงความเห็นว่า ที่ผมทำบุญกุศลของผมตามความสามารถ หรือไปวัดฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านบ้างเมื่อมีโอกาส หรือกระทำการอื่นๆอีกหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ที่ดีพึงกระทำนั้น ก็เป็นไปเพราะเหตุเดียว คือ สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ผมเคยเห็นพ่อแม่ผมทำมาก่อน ถ้าหากว่าพ่อแม่และผู้ใหญ่ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ไม่เคยกระทำการเหล่านี้แล้ว ผมก็แน่ใจว่า ตัวผมเองก็คงไม่ทำเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การอบรมเด็กด้วยการสอนก็ดี ด้วยการเขียนหนังสือก็ดี หรือการพูดจาโดยตรงกับเด็กก็ดีนั้น เมื่อเด็กได้ยินแล้ว ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมว่าเด็กอาจจะจำไม่ได้หมด หรือจำเอาเพียงบางส่วน หรือหลงลืม หรืออาจไม่ถือเอาเป็นเครื่องเตือนใจอยู่ทุกวัน
แต่การกระทำตนของผู้ใหญ่ให้เด็กเห็นเป็นประจำอยู่ทุกวันนั้น จะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจของเด็กได้มากกว่า และติดอยู่ในใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าในปัจจุบันนี้ เด็กไทยเราจะประพฤติตนไปในทางที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมบ้าง เราก็ควรจะต้องยอมรับว่า เพราะผู้ใหญ่ทุกวันนี้ก็ประพฤติไม่แตกต่างกันนั้นอยู่ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ ตัวอย่างเหล่านี้ เด็กมองเห็น จึงได้ประพฤติตามอยู่ทุกวัน”
ทุกวันนี้ เราเคยใช้สังคมเป็นกระจก แล้วส่องมองให้เห็นตัวเองกันบ้างหรือเปล่าครับ?
คำสอนจาก ‘อาจารย์ที่แท้จริงของผม’ แค่ในประเด็นเล็กๆ(แต่สำคัญ)นี้ยังไม่จบ ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับคำสอนหรือแนวคิดอย่างนี้ ขอเชิญติดตามอ่านกันต่อไป แล้วท่านจะพบว่าอาจารย์ที่แท้จริงนั้น นอกจากจะคิดแล้วบอกแล้ว ก็ยังจะต้องทำอะไรต่อไปอีกด้วย