พูดถึงหลักการเรื่อง “ประเทศไทย 4.0” คนเกือบทั้งหมดก็คงเห็นด้วย อยากให้ประเทศไทยพัฒนาถึงระดับนั้นได้จริง แต่ปัญหาอุปสรรคมีมากมาย สังคมไทยจึงควรที่จะระดมสมอง คิดค้นวิธีฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้น แนวคิดพื่นฐานของการสร้าง “ประเทศไทย 4.0” ที่เสนอโดยทางราชการนั้น ประกอบด้วย 2 แนวคิดสำคัญ 1. "Strength from Within" คือการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน 2. 2. "Connect to the World" เมื่อภายในเข้มแข็งแล้วเราก็ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจโลก เรื่องเชื่อมกับเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่น่าห่วง เพราะโลกวิ่งเข้ามาหา มาเชื่อมไทยอยู่แล้ว แต่การมาเชื่อมนั้น ต่างชาติเขามาแสวงหาผระโยชน์ ไม่มีใครเขามาทำทาน แจกของฟรีให้ไทย หรือใจบุญมาช่วยให้ไทยเข้มแข็งร่ำรวยโดยไม่หวังอะไรตอบแทนหรอก ประเทศไทยจะต้องช่วยตัวเอง คนไทยจะต้องช่วยตัวเอง คือ “สร้างความเข้มแข็งจากภายใน” แต่ทุกวันนี้ กลุ่มคนที่มีเงื่อนไขดีพอจะสร้างความเข้มแข็งได้ ก็มักจะสร้างความเข้มแข็งของตน จากการเอารัดเอาเปรียบคนไทยด้วยกัน อย่างดีก็อาจจะไม่ถึงกับกดขี่ขูดรีดหนัก เพียงแต่ “ไม่สนับสนุนเอื้อเฟื้อ” ให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจอย่างเสรีจริง หลักการการสร้างความเข้มแข็งจากภายในนั้น ก็ดูงดงามมาก คือมีกลไกในการขับเคลื่อนหลักอยู่ 3 ตัว ได้แก่ • การยกระดับนวัตกรรม (Innovation Driven Proposition) ของทุกภาคส่วนในประเทศ • การสร้างสังคมที่มีจิตวิญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Driven Proposition) • การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย (Community Driven Proposition) ซึ่งทั้ง 3 กลไกนี้ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน แต่ทว่า การยกระดับนวัตกรรมนั้น กลุ่มที่จะทำให้เกิดผลในทาง การผลิตจริง ก็ต้องเป็นทุนใหญ่ เพราะกฏหมายไทยที่โบร่ำโบราณ เอื้อต่อทุนใหญ่มากกว่าทุนเล็กทุนน้อย และการสร้างพลเมืองไทยให้มีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการสร้าง Smart Enterprise ที่มีโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ นั้น ก็คงได้ผลกับคนเพียงบางส่วน เพราะปัญหาของระบบการศึกษาไทย ส่วนเรื่องที่แทบไม่มีหวังคือ การสร้าง Strength from Within จากการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากหรือชุมชน ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด จะต้องสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากหรือชุมชนให้สำเร็จก่อน ความฝันด้านอื่น ๆ เรื่อง “ประเทศไทย 4.0” จึงจะมีโอกาสเกิดเป็นจริง แต่ทุกวันนี้ธุรกิจระดับชุมชนมันมีแต่เรียวเล็กลง