ทีมข่าวคิดลึก ประเด็น "ดีลลับ" ระหว่าง"บิ๊ก คสช." กับ "นักการเมือง"นัยว่าจะผุด "รัฐบาลแห่งชาติ" กำลังเข้มข้นข่าวใหญ่ว่าด้วยเรื่อง "สินบนโรลส์-รอยซ์" กำลังบีบให้รัฐบาลต้องเร่งสะสาง ทำความจริงให้ปรากฏ แม้เรื่องราวการให้สินบนจะเกิดขึ้นในอดีต พลันล่าสุด ทั้ง "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานเสียงกับ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุว่า "มีคนขู่ฆ่า" เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นพวกที่เคลื่อนไหวต่อต้านล้มล้างสถาบันอยู่ต่างประเทศ "ก็อยู่ในโซเชียลมีเดีย และกำลังหาตัวอยู่ ต้องถามว่ามันเอาข้อมูลจากไหนมาโพสต์ เพราะว่ามันมีพวกละเมิดสถาบันอยู่ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ คนพวกนั้นแหละมันพูดก่อน แล้วพวกเธอจะไม่ดูแลฉันเหรอ ผมเองก็ไม่ได้ประมาทและท้าทายใคร เพราะคิดว่าผมทำแต่ความดี ฉะนั้นใครไม่เห็นความดีของผมก็ช่วยไม่ได้ ชะตาชีวิตทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ผมเห็นแก่ชะตากรรมประเทศมากกว่าชีวิตผม"พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกซักถามถึงที่มาที่ไปของ ข่าวลือขู่ฆ่า ผ่านโลกโซเชียล แน่นอนว่าเมื่อระดับบิ๊กตู่บิ๊กป้อม ออกมาพูดถึงประเด็นใหญ่ว่ามีคน บางกลุ่มไปข่มขู่ปองร้ายถึงชีวิตเช่นนี้ย่อมเกิดเป็นแรงกระเพื่อมขึ้นมาเป็นวงกว้างพร้อมทั้งเกิดคำถามตามมาว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และ "ใคร" คือกลุ่มที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงเพราะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนที่หลบหนีออกนอกประเทศ ไปเคลื่อนไหวตามประเทศต่างๆ มีเป้าหมายล้มล้าง สถาบันนั้นมีด้วยกันหลายคน ทั้งที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส รวมทั้งลาว โดยเฉพาะประเทศลาวนั้นล่าสุดเวลานี้อยู่ในระหว่างการที่ฝ่ายไทยส่ง "พล.อ.ทวีป เนตรนิยม" เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประสานกับทางการลาว เพื่อขอให้ส่งตัวคนที่ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ล้มล้างสถาบันกลับมารับโทษที่ประเทศไทย อย่างไรก็ดี การออกมาโยนประเด็นว่าด้วยการขู่ฆ่าจากระดับสองบิ๊ก คสช. ครั้งนี้ไม่ว่าจะต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความต้องการที่จะสะท้อนและสื่อให้เห็นว่าแม้แต่ระดับผู้นำรัฐบาล และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง อย่างบิ๊กป้อม เองยังอยู่ในความไม่ปลอดภัย สถานการณ์ในบ้านเมืองวันนี้ยังไม่น่าไว้วางใจได้ใช่หรือไม่ ? หรือนี่จะเป็นการนำไปผูกโยงกับกรณีที่วอชิงตันโพสต์ จัดอันดับให้ประเทศไทยคือประเทศที่มีความเสี่ยงลำดับที่ 2 ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560 นี้จากฝ่ายที่ต่อต้านกองทัพและคสช.เป็นการแสดงออกทางหนึ่งในการปฏิเสธอำนาจของ คสช.โดยรู้ว่าทุกสัญญาณที่สื่อสารผ่านโลกโซเชียลนั้นย่อมได้รับความ สนใจและกระจายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อประเด็นที่ว่าด้วยรัฐประหาร มีขึ้นในห้วงเวลาเดียว กันกับที่ คสช.และรัฐบาลกำลังสร้าง"ถนนสายปรองดอง" และพยายามชักชวนให้นักการเมืองเข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็นการ "ทำข้อตกลง"ในเบื้องต้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่เป็น "บวก" ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปของคสช. ให้มากที่สุด ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจหรือไม่แต่ทว่างานนี้ เป้าหมายการใช้"ข่าวใหญ่" อาจต้องการ "ผลลัพธ์"ที่รวดเร็ว และไม่ยืนระยะเวลายืดเยื้อ เท่านั้น !