ทวี สุรฤทธิกุล รัฐธรรมนูญขี้เหร่ก็คือประเทศไทยขี้เหร่ ในทางรัฐศาสตร์เชื่อกันว่า รัฐธรรมนูญนี้คือสิ่งกำหนด “หน้าตาและทิศทางของบ้านเมือง” เหมือนเช่นการเขียนแบบแปลนบ้านของสถาปนิก หรือการวางระบบต่างๆ ภายในบ้านของวิศวกร (พรรคกิจสังคมในช่วง พ.ศ. 2518 – 2526 เคยมีหลักสูตรสร้างแกนนำทางการเมืองชื่อว่า “วิศกรสังคม” ต่อมาพรรคพลังธรรมในยุคของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็ใช้หลักสูตรเดียวกันนี้สร้างผู้นำทางการเมืองขึ้นมาจำนวนมาก แต่ใช้ชื่อว่า “วิศวกรการเมือง”) เพราะรัฐธรรมนูญจะกำหนดที่มาของอำนาจสูงสุดหรือ “อำนาจอธิปไตย” อย่างเช่น ในมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญจะบอกว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” เป็นต้น จากนั้นก็เป็นการจัดวางโครงสร้างทางอำนาจ ได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล และศาล (รวมถึงองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา) ซึ่งที่ผ่านมาคนร่างก็มักจะเถียงกันเรื่องอำนาจอธิปไตยและกระบวนการในการใช้อำนาจเหล่านี้ เช่น จะมีกี่สภา ที่มาของแต่ละสภา ที่มาของนายกรัฐมนตรี และอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล เป็นต้น เหมือนกับการวางแบบแปลนบ้านว่า ทางขึ้นทางเข้าจะอยู่ตรงไหน หน้าบ้านหรือมุมใช้สอยต่างๆ จะหันไปในทิศทางใด พื้นที่ต่างๆ จะใช้ทำอะไร จะกินจะนอนตรงไหน ระบบแสงสว่างน้ำไฟและเฟอร์นิเจอร์จะเป็นอย่างไร อันเปรียบได้กับรายละเอียดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างดี ซึ่งในทางรัฐศาสตร์เราเรียกว่า “สมดุลแห่งอำนาจ” หรือ “Balance of Power” นั่นเอง คนที่คิดจะสร้างบ้านมักเริ่มจาก “ความฝัน” คือฝันว่าจะมีบ้านแบบไหน จะอยู่กับใคร และมีกิจกรรมที่จะทำอะไรในบ้านนั้นบ้าง ภาษาสถาปนิกเขาเรียกว่า “Form follow function” คือต้องคิดถึงขนาดและพื้นที่ใช้สอยก่อนที่จะวาดออกมาเป็นรูปบ้าน หรืออย่างที่สำนวนไทยบอกว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน” คือต้องเข้าใจความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้านเสียก่อน แล้วจึงจะเขียนแบบแปลนเพื่อสร้างบ้าน เพื่อให้คนในบ้านมีความพอใจ เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้วก็ “อยู่สุข อยู่สบาย” ตามต้องการ โชคร้ายที่ประเทศไทยมีคนชอบ “แอบอ้าง” เป็นเจ้าของบ้านแทนประชาชนคนไทย คือถ้าไม่ใช่เผด็จการทหารก็เป็นนักการเมืองเลวๆ โดยเฉพาะเผด็จการทหารนั้นเมื่อยึดอำนาจได้ก็มักจะฉีก “แปลนเก่า” หรือรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง แล้วเขียน “แปลนใหม่” หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทุกครั้ง แต่ไม่ว่าทหารหรือนักการเมืองจะเขียน ก็ล้วนแต่เขียนเพื่อประโยชน์ของพวกเขา อย่างที่มีคำกล่าวว่า “ใครเขียนรัฐธรรมนูญ เขาก็เขียนเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขาไว้” (ดูเหมือนว่าจะมีรัฐธรรมนูญเพียง 2 ฉบับที่เขียนขึ้นด้วยกระบวนการที่ถูกต้องและได้รัฐธรรมนูญที่ดี คือฉบับ พ.ศ. 2517 ที่เขียนโดยคณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ เพราะมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยในทางสากลอยู่อย่างบริบูรณ์ และอีกฉบับหนึ่งก็คือฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญบางฉบับจะมีการทำประชามติเช่นกัน เช่น ฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็เป็นการ “บังคับประชามติ” จึงทำให้เนื้อหานั้นไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด) หลายคนอาจจะมองว่า “รัฐธรรมนูญไม่เห็นจะสำคัญอะไร” เพราะสามารถฉีกทิ้งได้ง่ายๆ อย่างที่ทหารชอบทำกัน แต่ท่านทั้งหลายก็ต้องเข้าใจก่อนว่า “ก็เพราะรัฐธรรมนูญนี้สำคัญนัก” ในการทำรัฐประหารเขาจึงต้องฉีกทิ้งทุกครั้ง ไม่งั้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ก่อนหน้านั้นจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของทหาร และที่แย่ที่สุดก็คือจะกลับมา “ตวัดคอ” คือทำร้ายเอาโทษแก่ทหารที่ยึดอำนาจนั้นได้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีบทบัญญัติที่ห้าม “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ” อยู่ด้วย ดังนั้นเขาจึงออกกฎหมายใหม่ คือประกาศคณะปฏิวัติบ้าง ธรรมนูญชั่วคราวบ้าง เพื่อนิรโทษกรรมและไม่ให้มีการเอาผิดแก่ผู้ทำรัฐประหารนั้น บางคนอาจจะมองว่า “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ” อันสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ทุกปัญหา ดังเช่นที่รัฐบาลชุด “ประยุทธ์ใหม่” ได้บรรจุเป็นนโยบายไว้ในอันดับท้ายๆ และไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไรอย่างไร โดยอ้างว่าต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน โดยเอาเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจเข้ามาวางไว้เป็นนโยบายลำดับแรกๆ จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า “รัฐธรรมนูญนั้นกินไม่ได้” เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้คนสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิด “กระแสการเมือง” เข้ามารบกวนการทำงานของรัฐบาล ผู้เขียนมองด้วยความมั่นใจว่า เพราะรัฐบาล “กลัว” การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงเพียงแต่เอามา “ประดับไว้” เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงๆ คงไม่คิดที่จะแก้ไขหรือดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใดๆ เช่น การกำหนดโรดแม็ปหรือกระบวนการที่จะทำให้เสร็จสิ้น อย่างมากก็คงแค่ตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษา “ซื้อเวลา” ไปเป็นระยะ (ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 ก็ใช้เท็คนิคนี้ โดยมีการตั้งคณะยกร่างขึ้นใน พ.ศ. 2502 แล้วใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าที่จะร่างเสร็จ โดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งที่จริงก็คือทหารที่สืบอำนาจกันมา ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการอยู่หลายครั้ง) แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ชูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญ ก็คงได้แต่แสดงวาทกรรมให้ดูขึงขัง แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่กล้าที่จะขับเคลื่อนผลักดัน เพราะจะเป็นเหมือนการ “จุดระเบิด” ทำให้รัฐบาลนี้สิ้นสลายได้ง่ายๆ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นมี “ข้อเสีย” อยู่มาก โดยเฉพาะการวางแผนให้ทหารเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองอย่างไม่รู้จบสิ้น ที่แม้จะอ้างว่าเพื่อใช้เวลาในการสร้างชาติและพัฒนาประเทศ แต่ก็จะสร้างวัฒนธรรมศักดินาที่เน้น “การพึ่งพิง” ทำให้คนไทยไม่โตเสียที เวลาที่มีปัญหาก็ “ร้องกินนม” หรือเรียกหาทหารอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ถ้ารัฐบาลนี้ไปไม่รอด ก็อาจจะได้เวลา “กินนม” อีกแล้ว