ทวี สุรฤทธิกุล ประชาธิปไตยคือการพูดคุยหารือ แต่ปัญหาของประชาธิปไตยของประเทศไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้น(และน่าจะยังคงเป็นอยู่ในสมัยนี้)ก็คือ ไม่ค่อยที่จะชอบหารือหรือพูดคุยกัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวถึงความล้มเหลวของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินกับสภาที่ปรึกษาในพระองค์ ก็เนื่องด้วยไม่ค่อยได้มีการปรึกษาหารือหรือพูดคุยกันตามที่ได้วางบทบาทหน้าที่ไว้นั้น มีแต่จะคอย “รับสนองพระบรมราชโองการ” หรือฟังคำสั่งจากพระองค์อยู่เช่นเดิม แต่ที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดก็คือก็คือเมื่อทรงมีพระราชดำริที่จะขอความเห็นหรือคำปรึกษาต่างๆ ก็ล้วนเงียบกริบ พร้อมคำนับน้อมโยดุษณีย์ว่า “ตามแต่พระราชอัธยาศัย” หลังจากที่คณะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง “หัวสมัยใหม่” ได้ทูลเกล้าฯถวายคำกราบบังคมทูลเพื่อให้มีการจัดการบ้านเมืองเสียใหม่ตามแบบฝรั่ง ใน พ.ศ. 2427 (ร.ศ. 103) แล้ว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่าไม่ได้นิ่งนอนพระทัย แต่ทรงครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2410 นั้นแล้ว แต่ก็ติดขัดด้วยผู้คนในบ้านเมืองยังไม่พร้อม โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองของประเทศไทยในเวลานั้น จากนั้นพระองค์ท่านก็ทรงพัฒนาประเทศไปในด้านต่างๆ “ด้วยความอดทน” เพราะต้องดำเนินไปอย่างช้าๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลาย กระทั่งใน พ.ศ. 2446 ก็ทรงพบว่าปัญหาก็ยังอยู่ที่ “คนรอบข้างพระองค์” นั่นเอง ดังที่ได้ทรงกล่าวไว้ใน “พระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคี” ที่สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคดังกล่าว (www.formumandme.com/article.php?a=1108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออธิบายความหมายของตราอาร์มแผ่นดิน (ถ้าใครนึกไม่ออกก็ให้ดูดวงตราที่ประดับบนหน้าหมวกของตำรวจ นั่นแหละคือตราอาร์มที่มีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5) ที่ทรงมีพระราชดำริให้ทำขึ้นช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์ตามแบบสังคมฝรั่งที่ได้ใช้ตราอาร์มต่างๆ แทนลำดับวงศ์ตระกูลและ “ชื่อเสียง” ของตระกูลนั้นๆ มาตั้งแต่ครั้งยุคกลางในยุโรป (คริสต์ศตวรรษที่ 10 – 16) ทั้งนี้ทรงให้สมเด็จพระสังฆราช สา ปุสสเทวะ (ดำรงพระสมณยศ พ.ศ. 2436 – 2442) นิพนธ์คาถาประดับไว้ ความว่า “สพฺเพสํ สังฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺสาธิกา” แปลว่า “ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ” ซึ่งนักประวัติศาสตร์(รวมถึงนักอักษรศาสตร์)อธิบายความว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี และให้ชนทั้งหลายยึดมั่นในความสามัคคีนี้ ดังที่ปรากฏเป็นตราอาร์มประกอบด้วยคาถาแห่งแผ่นดินดังกล่าว “ร่วมกันและช่วยกัน” สร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติสืบไป ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ ขอมีความเห็นเป็นการส่วนตัวเพิ่มเติมถึงพระราชนิพนธ์นี้ว่า น่าจะมี “นัยทางการเมือง” ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางการเมืองการปกครองในครั้งนั้น อันเป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนทรงขึ้นครองราชย์ และสะท้อนพระราชอุตสาหะที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยน่าจะมีพื้นฐานแนวคิดมาจากคำกราบบังคมทูลฯ ใน ร.ศ. 103 นั้นด้วย เริ่มต้นทรงปรารภว่า “ข้าพเจ้าจะขอยกข้อความซึ่งมีผู้พูดกันด้วยความสามัคคีขึ้นกล่าวก่อน มีคนบางพวกเป็นคนมีความคิดสูง มักจะคิดการบ้านเมืองต่างๆ และมักใส่ใจในการต่างประเทศ แต่ไม่รู้หนังสือต่างประเทศ .... มักจะพูดกันว่ากันว่าคนยุโรปเขาทำการใดๆ สำเร็จไปได้ตลอด เพราะเขาเป็นสามัคคี ไม่ขัดขวางกัน เขาไม่มีความอิจฉาริษยากัน เขาเป็นคนซื่อตรง อยู่ในความยุตะรรมไม่คดโกงกัน บ้านเมืองเขาจึงได้มีความเจริญ ฝ่ายพวกที่รู้ภาษาอังกฤษ และรู้พื้นเพราชการในประเทศยุโรป .... เห็นว่าจำเป็นต้องมีปาลิเมนต์ที่ราษฎรประชุมปรึกษาราชการ และผู้ที่คิดการบ้านเมืองนั้นจะต้องเป็นสองพวกสามพวก ในความเห็นต่างกันเหมือนประเทศทั้งปวง เพราะเมืองไทยไม่ยอมให้มีความคิดต่างๆ กัน เป็นเหล่าคิดได้พูดได้ตามใจ บ้านเมืองจึงไม่มีความเจริญเหมือนประเทศยุโรป รวมใจความว่าปกครองบ้านเมืองแต่ด้วยอำนาจผู้ปกครองไม่พร้อมไม่พร้อมด้วยราษฎร ซึ่งนับว่าเป็นการปกครองด้วยความสามัคคีในคนหมู่ใหญ่” จากนั้นทรงมีพระราชวิจารณ์แนวคิดของทั้งสองกลุ่มว่ามี “จุดอ่อน” ทั้งคู่ แล้วทรงสรุปว่า“ข้าพเจ้าเห็นว่าความคิดสองพวกซึ่งกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นไม่ถูกแก่กาลเวลาของบ้านเมือง ไม่เป็นเครื่องที่จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญไปได้โดยเร็ว เพราะเหตุที่จะเป็นสามัคคีไปไม่ได้ตามคาถาซึ่งกล่าวมาแล้ว” ทั้งนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเสนอแนวทางที่จะทำให้สำเร็จว่า“เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าความสามัคคีที่ต้องการในเมืองไทยเวลานี้ มีอยู่ทางเดียวแต่ที่จะให้พร้อมใจกันเดินทางกลางมีข้อสำคัญมั่นใจเสียให้ทั่วกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า บ้านเมืองเราทุกวันนี้ตั้งอยู่ในระหว่างประเทศทั้งปวงที่มีอำนาจติดต่อเขตต์แดนถึงกันบ้าง ไปมาถึงกันบ้าง ..... ก็ต้องระวังรักษาตามสมควร ... การบ้านเมืองที่ควรจะเปลี่ยนที่จะได้ฉันใด การบ้านเมืองที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปได้นั้น ก็ควรจะคิดเห็นว่าบ้านเมืองเราเป็นเวลาที่จะต้องทำนุบำรุง การอันใดควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง การอันใดควรจะตัดจะเลิกก็จะต้องตัดเสีย การอันใดควรจะเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มขึ้น จะเทเลิกหกความในครั้งหนึ่งคราวเดียวก็ไม่มีทางจะทำได้...” เพียงข้อเสนอที่พระองค์ทรงกล่าวมานี้ย่อมแสดงถึง “ความร้อนพระทัย” ที่บ้านเมืองของเรายังพัฒนาไปไม่ถึงไหน นั่นก็เพราะยังไม่มีความสามัคคีที่ทรงเห็นว่าควรจะเริ่มจาก “ความสามัคคีในความเห็น” นั้นเสียก่อน นั่นก็คือการประสานความเห็นทั้งหลายให้มาอยู่ “ตรงกลาง” “ตรงกลาง” บนผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตน