สถาพร ศรีสัจจัง อะไรคือ “Generation gap”? จำได้ว่าตอนช่วงต้นๆของทศวรรษ 2510 (ก่อนเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” 2516) ในหมู่ปัญญาชนนักคิด “รุ่นใหม่” ชาวไทยบางกลุ่มที่เริ่มสมาทานรับแนวคิดหรือ “วิธีวิทยา” แบบตะวันตกอย่างกว้างขวางขึ้น (เพราะผลของสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504?) เริ่มมีการพูดถึงปัญหาทางสังคมที่ระบุว่ามีเหตุเกิดจาก “ช่องว่างระหว่างวัย (หรือระหว่างรุ่น)” ที่ฝรั่งเรียกว่า “Generation gap” กันอย่างหนาหูพอควร อย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชนที่เป็นนักสังคมวิทยาและนักการศึกษาทั้งหลาย! จากวันนั้นถึงวันนี้กินเวลาประมาณ 50 ปี คนรุ่นนั้นได้รับการเรียกขานจากนักวิชาการฝรั่งว่าเป็นรุ่น “Baby Boomer” หรืออะไรประมาณนั้น นิยามที่ตามมาต่อคนรุ่นนั้นของคนรุ่นใหม่วันนี้ก็คือ เป็นรุ่นที่มีความคิดแบบ “Concervative” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแบบตรงไปตรงมาก็คือเป็นพวกมีความคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” แปลจากไทยเป็นไทยอีกที (ที่จริงจากแขกเป็นไทย) ก็คือเป็นคนรุ่นที่มีความคิดความอ่านค่อนข้างเร่อร่าล้าสมัยไม่ทันกาล แบบที่นักกิจกรรมในขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษารุ่น “14 ตุลาฯ” มักเรียกคนรุ่นก่อนที่มีความคิดบางประการขัดแย้งกับพวกเขา (โดยเฉพาะเรื่องนามธรรมประเภท “ว่าด้วยเสรีภาพและความเสมอภาค”) ว่าเป็นพวก “ไดโนเสาร์เต่าพันปี” นั่นแหละ! เรื่องนี้ถ้าไม่เชื่อก็ให้ลองไปถามคุณภูมิธรรม เวชยชัย (อดีต)เลขาธิการพรรคเพื่อไทย หรือคุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ผู้เฒ่าแห่งพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่คนอย่างศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หรือหมอเหวง โตจิราการ ฯลฯ ซึ่งเป็นคนรุ่นนั้นดูก็ย่อมจะได้รับคำตอบยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? สองสามวันมานี้ได้ข่าวแว่วๆมาว่ามีผู้หวังดีต่อท่านนายกฯลุงตู่ ส่งเสียงเตือนท่านว่า เที่ยวนี้ขอให้ท่านเร่งทำความเข้าใจและระวังเรื่อง “ช่องว่างระหว่างวัย” นี้ไว้ให้มากสักหน่อย เพราะน่าจะเป็น “ตัวแปร” สำคัญในการก่อปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ทั้งท่านผู้นั้นยังพยายามแสดงและชี้ให้เห็นว่าในเรื่องดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้ทั้ง “ศิลป์และศาสตร์” ในการแก้ปัญหา ที่จริงความคิดเห็นเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับปัญหา “Generation gap” หรือ “ช่องว่างระหว่างวัย” ที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปนั้น ฟังว่าเป็นของนักสังคมศาสตร์ชาวฮังกาเรียนคนหนึ่ง ชื่อ Karl Mannheim ซึ่งเคยเสนอเอกสารขิ้นสำคัญที่ชื่อ “The problem of Generation” ชี้ปัญหาเรื่องนี้ไว้นานพอสมควรแล้ว ใครสนใจในรายละเอียดก็คงตามหาอ่านกันเองได้ไม่ยาก เพียงอยากบอกว่า เรื่องนี้ถ้าผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสังคมไทย (แน่ละในนั้นย่อมต้องมีนายกฯลุงตู่ผู้ถูกหลายใครกล่าวหาว่าเป็น “เผด็ตการ” ร่วมอยู่ด้วย) จะรู้จักศึกษาเรียนรู้และสรุปบทเรียนจากสังคมของเราเองได้บ้าง ก็น่าจะเรียนรู้ได้จากคนรุ่น “เดือนตุลาฯ” นั่นแหละ เหตุการณ์เดือนตุลาฯที่สำคัญและส่งผลกับสังคมไทยอย่างมากนั้นมี 2 ครั้ง ครั้งแรกคนหนุ่มสาวลุกขึ้นนำประชาชนเดินขบวนต่อสู้กับ “เผด็จการถนอม-ประภาส” เพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2516 จนได้รับชัยชนะ/ครั้งที่ 2คือครั้งที่คนหนุ่มสาวรวมตัวกันประท้วงการกลับเข้ามาของ “เผด็จการ” ที่พวกเขาเพิ่งขับไล่จนต้องหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนตุลาฯพ.ศ. 2519 และพวกเขาถูก “ล้อมปราบ” เข่นฆ่าอย่างทารุณโหดร้ายโดยไม่มีทางสู้จนต้อง “หนีเข้าป่า” ไปจับอาวุธต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยดังที่รู้ไรกัน และผู้ที่สามารถแกปัญหาความขัดแย้งเรื่องนี้ได้อย่างบรรลุผล ทำให้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อมากไปกว่าที่ได้เสียมาแล้วในครั้งนั้น ก็คือท่านรัฐบุรุษ อดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ทีเพิ่งถึงแก่อสัญกรรม ที่เคยถูกปิดล้อมบ้านพักจากใครบางกลุ่มพวกนั่นไง คนรุ่นนี้จึงมีบทเรียนเปี่ยมเต็ม ทั้งด้านทฤษฎีการต่อสู้ทางสังคม การสร้างแนวร่วม การสามัคคีกลุ่มชั้นชนและชนชั้นที่ควรสามัคคีเพื่อไปต่อสู้ศัตรูที่ขัดแย้งเผชิญหน้าแบบต้องทำลายล้าง คนรุ่นนี้มีทั้งบทเรียนของชัยชนะและความพ่ายแพ้ มีทั้งบทเรียนของความคิดที่ถูกต้องและผิดพลาด ที่สำเร็จและล้มเหลว ฯลฯ แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด และน่าจะเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่อง “ช่องว่างระหว่างวัย” และ “ช่องว่างระหว่างชนชั้น” ได้อย่างยั่งยืนถาวร ก็คือ “รากทางวัฒนธรรม” ของสังคมไทยเอง! รากฐานที่ตั้งอยู่บนความเปี่ยมอุดมของพุทธธรรม อันเปี่ยมเต็มไปด้วยแนวทางแห่งพุทธิปัญญาและความมีสติ เปี่ยมเต็มไปด้วยคุณธรรม จริยธรรมและที่สำคัญคือความมี “คารวธรรม” ตามทางพุทธศาสนาที่ถือหลัก “พรรษา” เป็นเครื่องชี้ประการหนึ่งในการให้เกียรติในฐานานุรูปของคน ฯลฯ หรือใครไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งความเป็น “อนิจจัง” ของสิ่ง? หรือ 50 ปี : จากรุ่น baby boomer ถึง Gen Z จะไม่ช่วยตอบคำถามนี้?!!!