ทันทีที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ก็พ้นสภาพไปโดยอัตโนมัติ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้กล่าวตอนหนึ่งของสารอำลาตำแหน่งหัวหน้าคสช.
“บัดนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆอีกต่อไป
แม้การปกครองเช่นนี้อาจล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนบางกลุ่มบ้าง อาจติดขัดที่ขั้นตอนข้อจำกัดทางกฎหมาย การเมืองและงบประมาณบ้าง ต้องรับฟังความคิดเห็นโต้แย้งที่แตกต่างกันบ้าง แต่เป็นไปตามครรลองของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อดทน อดกลั้น ไม่ขัดแย้งรุนแรง มีเหตุผล มีวินัย เคารพเสียงข้างมาก ยึดมั่นในธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรม เนียมประเพณีและวิถีชีวิตของไทย”
อย่างไรก็ตาม ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น กรณีโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า แม้คสช.จะพ้นสภาพไปแล้ว แต่คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกปรับทัศนคติว่า เดิม คสช.เป็นคนเรียก เมื่อ คสช.หมดไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไรต่อ ทั้งนี้ กอ.รมน.ไม่ใช่ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
ในเรื่องนี้ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่า คสช.ไม่ได้โอนอำนาจให้ กอ.รมน.สามารถเรียกบุคคลมาพูดคุย เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ แต่กฎหมายที่ คสช.ใช้อยู่คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในการดูแลความเรียบร้อย เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเกิดขึ้นก็จะประกาศเป็นพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เมื่อมีการประกาศแล้วก็จะต้องมีการใช้กำลังตามมาตรา 16 กอ.รมน.เลือกว่าจะใช้อำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสอดคล้องกับหน่วยงานที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบคือทหารหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้ที่จะตัดสินใจเลือกใช้กำลังจะต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่ถูกแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี
“กอ.รมน.ไม่สามารถเรียกตัวบุคคลมากักขังหรือพูดคุยได้ เพราะปัจจุบัน กอ.รมน. ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และเมื่อมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในพื้นที่จึงจะสามารถเข้าไปดูแลได้ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยการทำหน้าที่บูรณาการและประสานงานร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา เมื่อ คสช.ยุติบทบาท กอ.รมน.ก็เข้ามาโดยไม่ได้มีการโอนอำนาจแม้แต่อย่างใด ส่วนที่มีการเชิญตัวก็อยู่ในมาตราที่ 13/1 ในข้อที่ 7 ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีอยู่ก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.กอ.รมน.จังหวัด และจะมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นคณะกรรมการด้วย เช่น กรณีมีโครงการจัดทำฝายระบายน้ำที่เสนอผ่านจังหวัดเข้ามาทางคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมาช่วยพิจารณา หากมีจุดไหนที่ไม่เรียบร้อยหรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล แต่ไม่ใช่การเรียกตัว ต้องใช้คำให้ถูกต้อง”พล.ต.ธนาธิป กล่าว
เราเห็นว่า การดำเนินการของ กอ.รมฯต่อจากนี้ ย่อมจะเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ และย่อมจะอยู่ในสายตาของประชาชนจากทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น กอ.รมน.จะทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่วิตกกังวลนั้น เป็นไปไม่ได้