แสงไทย เค้าภูไทย
ยางพารากับน้ำมันปาล์มเคยทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่วันนี้ ราคาตกอย่างหนัก รัฐบาลแก้ด้วยการทำถนนด้วยยาง ส่วนน้ำมันปาล์มแก้ด้วยการให้ขึ้นราคาน้ำมันปรุงอาหาร ขณะที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียผนึกกำลังกันประกาศแอนตี้สินค้ายุโรปกรณีออกกฎหมายเลิกใช้ไบโอดีเซล ขณะที่ไทยเฉย
ไทยเป็นชาติผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยอินโดนีเซียและมาเลเชียเป็นชาติอันดับ 1 และ 2
สำหรับยางพารา ตลาดยางดิบใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน ที่ใช้ในอุุตสาหกรรมยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง
แต่เมื่อจีนหันไปผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆด้วยกากที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ยางพาราของไทยก็สูญเสียตลาดจีนไปจนราคาตกตลอดมา
จีนเป็นชาติที่บริโภคน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก กากที่เหลือจากการกลั่่นน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่เป็นยางข้นเหนียวที่เรียกว่ายางมะตอยนั้น แต่ก่อนใช้ทำถนน
แต่เมื่อนำไปวิจัย สังเคราะห์ซ้ำ ก็จะได้สารที่มีคุณสมบัติคล้ายยางพารา นำไปเป็นทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดในราคาที่ถูกกว่ายางพารา
ไทยเราวันนี้สวนทางกับจีน คือนำยางพาราดิบไปทำถนนแทนยางมะตอยที่เป็นกากจากการกลั่นน้ำมันดิบ
สำหรับปาลฺ์มน้ำมัน ยุโรปและอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ของน้ำมันปาล์ม แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากการใช้น้ำมันปาล์มและปัญหาสภาพแวดล้อมจากเชื้อเพลิงดีเซล บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างพากันเลิกใช้ดีเซล
แม้จะเป็นดีเซลชีวภาพหรือไบโอดีเซล แต่ก็อยู่ในข่ายสร้างมลภาาวะ เพราะยุโรปกำลังนับถอยหลังแบนรถยนต์ทุกชนิดที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมันจากปีโตรเลียม
ในอนาคต รถยนต์ใช้กระแสไฟฟ้าขับเคลื่อน จะมาแทนที่น้ำมันเชื้อเพลิง แม้แต่ในไทย ตอนนี้ปั๊มน้ำมันหลายแห่งติดตั้งเครื่องเติมกระแสไฟฟ้ากันแล้ว
แต่เพราะปัญหาเลิกใช้น้ำมันปาล์มมาเร็ว ทำให้ตั้งตัวกันไม่ทัน ทำให้ต้องแก้กันที่ปลายเหตุแบบเฉพาะหน้า ฤดูต่อฤดู ไม่ได้แก้ปัญหาถาวร
อินโดนีเซียกับมาเลเซียมีผลผลิตมากกว่าไทยหลายเท่าตัว เดือดร้อนกับการยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มมาก
มีการต่อสู้ด้านโภชนาการ ทั้งเอกสาร ทั้งสื่อออนไลน์มากมาย เพื่อชี้แจงต่อชาวยุโรปที่ต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มเป็นระยะๆจำนวนกว่า 6 แสนคน
เหตุผลที่คนยุโรปต่อต้านน้ำมันปาล์มมี 2 ด้าน คือด้านโภชนาการที่อ้างว่า น้ำมันปาล์มมีไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกับการปลูกปาล์มในย่านอเชียอาคเณย์ ทำให้มีการทำลายป่าเขตร้อนหนาแน่น มีผลกระทบต่อบรรยากาศโลก โดยเฉพาะความแปรปรวนของปรากฎการณ์เอลนีโญ่และลานีญ่า ที่เกิดขึ้นในเขตมรสุม
เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการถางป่าปลูกปาล์มนั้น ทีมผู้แทนจากอินโดนีเซียและมาเลเซียชี้แจงว่า แม้จะมีการทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มก็จริง แต่ปาล์มเป็นพืชยืนต้น อายุยืน สามารถทดแทนต้นไม้ที่ถูกททำลาายไปกับป่าได้
แต่ทางยุโรปโต้ว่า ความหมายของการทำลาายป่าเพื่อปลูกปาล์มคือ การทำลายระบบนิเวศนวิทยา โดยเฉพาะด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมเพราะการปลูกปาล์มเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ส่วนด้านโภชนาการ ทีมชี้แจง ชี้แจงว่า น้ำมันปาล์มแม้จะมีไขมันทรานส์ แต่ก็ทนความร้อนสูงกว่าน้ำมันชนิดอื่น เมื่อนำไปปรุงอาหารแบบปกติ จะทำใช้ความร้อนไม่สูงเท่ากับน้ำมันชนิดอื่น ทำให้ไม่ถึงจุุดเผาไหม้
การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงจนถึงจุดไหม้ จะก่อให้เกิดสารพิษขึ้นมา 3 ชนิดและกลุ่ม คือสารไนโตรซามีน (nitrosamines) สารพัยโรลัยเซต (pyrolysates สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbon)
ยิ่งกว่านั้น ไขมันทรานส์ในน้ำมันปาล์มสมัยนี้ มีการสกัดออกจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้แล้ว จึงนับว่าใช้ได้ปลอดภัย
แต่ฝ่ายยุโรปไม่ฟังกัน เหตุผลคือปาล์มไม่ใช่พืชพื้นเมืองยุโรปและเขตอบอุ่น ต่างจากถั่วเหลือง มะกอกฝรั่งและพืชให้น้ำมันอื่นๆ ทำให้เกษตรกรปลูกพืชเหล่านั้นผสมโรงเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้น้ำมันนำเข้าจากเขตร้อนชนิดนี้
ขณะนี้บรรดาเกษตรกรปาล์มน้ำมันกำลังลดพื้นที่ปลูกลงและหันไปปลูกพืชทดแทน เพราะในอนาคต ปาล์มคงจะเหลือตลาดไม่มากนัก
บ้านเราหากไม่ปรับตัว คงจะนั่งรอกินแรงเพื่อนอย่างนี้ได้อีกไม่นาน