หลังถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2/1 ก็สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนงานบริหารประเทศได้เต็มสูบ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่เฝ้ารอนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท/วันจากรัฐบาลชุดใหม่
ทว่า ก็มีเสียงจากภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี หากปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) แน่นอน อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการไตรภาคี
“การขึ้นค่าแรงในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน โดยจะสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ โดยภาคเอก ชน จึงอยากให้ความสำคัญเรื่องการปรับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้แรงงานมีโอกาสได้รับรายได้มากขึ้น และไม่เห็นด้วยที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือแรงงานต่างด้าวและจะทำให้แรงงานไทยเสียผลประโยชน์อีกเป็น 1,000 เป็น 10,000 ล้านบาท และการกำหนดค่าแรงขึ้นท่ามกลางสภาวะอย่างนี้เอสเอ็มอีตายหมด ส่งผลให้เกษตรกรมีปัญหา เพราะจะต้องจ้างงาน”
ประธานสภาอุตสาหกรรม ยังจี้ให้รัฐบาลต้องยกเลิกพูดเรื่องค่าแรงได้แล้ว แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแทนจะทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อให้องค์กรต่างๆปรับตัวได้ดีขึ้น และเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะมาดูแลเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สามารถลดหย่อน หรือใช้นโยบายภาษีให้ได้ประโยชน์ที่สุดในการลดหย่อนภาษี
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสมาคมการค้า หอการค้าไทย มองไปในทิศทางเดียวกันว่า หากรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอาจจะดำเนินการได้ไม่เร็วมากนัก เพราะขณะนี้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมค่อนข้างอ่อนแอ เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และหากปรับขึ้นจริงในที่สุด ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีสัดส่วนการใช้แรงงานจำนวนมาก เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะปรับตัวได้มากกว่า เพราะสัดส่วนการใช้แรงงานไม่มากเท่าเอส เอ็มอีและได้นำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทนแรงงานแล้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าเรื่องค่าแรงหลายพรรคพูดถึงโดยมีเป้าหมายระดับ 400 บาทต่อวัน และมากกว่า 400 บาทต่อวัน ซึ่งในการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะมีแนวทางร่วมกันได้ ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงต้องคู่ไปกับการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน โดยมีโจทย์ใหญ่คือการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย หากต้องการความยั่งยืนต้องพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น
กระนั้น แม้จะมีความพยายามท้วงติงรัฐบาล ในการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันว่าจะเป็นการมัดตัวเองเกินไป แต่ต้องยอมรับว่านโยบายดังกล่าว ได้มีการหาเสียงเอาไว้ เป็นเหมือนสัญญาประชาคม แม้จะยังมีรายละเอียดในการปรับขึ้น ที่ต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ชัดเจน สามารถอธิบายได้ ในทุกขั้นตอน ไม่เช่นนั้น ผลงานที่จะเป็นโบว์แดงอาจกลายเป็นโบว์ดำ