16 ก.ค.คือวันที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องถอดหมวกที่สวมมาตลอดระยะเวลากว่า 5ปีออก นั่นคือหมวกใบที่ชื่อว่า "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือคสช. ซึ่งเคยเป็นหมวกที่ทรงอำนาจ มี "มาตรา44"เป็นเสมือน "ดาบอาญาสิทธิ์" ใช้กำราบความวุ่นวายทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นได้ชะงัดมาแล้ว
สืบเนื่องจากตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเอาไว้ใช้ชัดเจนว่า อำนาจและความเป็น "หัวหน้าคสช."ของพล.อ.ประยุทธ์ จะยุติลง เมื่อ "คณะรัฐมนตรีชุดใหม่" ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
โดยในวันนี้ 16 ก.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จะออกสารถึงพี่น้องประชาชน ในฐานะ หัวหน้าคสช.อันเป็นฉบับสุดท้าย
" ผมจะมีสารออกไปในนามของหัวหน้าคสช.เนื่องจากคสช.จะต้องยกเลิก หรือสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นต้นไป
ผมจะมีสารถึงพี่น้องประชาชน และทุกหน่วยงานเพื่อขอบคุณในการทำงานร่วมกันมา 5 ปี ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายเรื่องด้วยกัน ก็คงมีเท่านี้ คงไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นปัญหา" พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อในการประชุมครม.ชุดเก่า อันเป็นวาระพิเศษ นัดอำลา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
การถอยออกจาก "อำนาจ" ในฐานะ "หัวหน้าคสช." ของพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "กฎกติกา" กำหนดเอาไว้ แต่อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ "บิ๊กทหาร"เองต้องยอมรับและ "อ่านเกมให้ออก" นั่นคือวันนี้อำนาจและความขลังของ หัวหน้าคสช. ตลอดจนมาตรา 44 เริ่มเสื่อมมนต์ลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือ "ไฟท์บังคับ" จากกระแสสังคม และบริบททางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไป เมื่อวันที่คสช.เองให้ไฟเขียว เปิดสนามให้มีการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมานั่นเอง
จึงเท่ากับว่าแท้จริงแล้ว คสช.เองได้วางแผนการเล่น เพื่อ "ปลดล็อค" ให้ทั้ง "ตัวเอง" และนักการเมือง นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ด้วยภาวะความจำยอม
การรบรา ต่อรองและควบคุมทุกความวุ่นวายทางการเมืองทั้ง "ศึกใน"ภายใน "พรรคร่วมรัฐบาล" ไปจนถึง "ศึกนอก" จาก "7พรรคฝ่ายค้าน" โดยเฉพาะ "เพื่อไทย-อนาคตใหม่" ที่เปิดฉากท้าทายพล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพกันมาก่อนหน้านี้
ทั้งการเปิดเกมแบบคู่ขนาน ทั้งเกมในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเริ่มชิมลาง ประลองกำลังกันในยกแรกที่การชำแหละ "ครม.ใหม่" ในวาระการแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 25 ก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะดุเดือด และเข้มข้น เพราะฝ่ายค้านจะไม่ยอมเสียเวลา
ส่วนเกมที่รัฐบาลต้องรับมืออีกทางหนึ่ง นั่นคือการเดินสายของ "แกนนำพรรคอนาคตใหม่" ยังประเทศต่างๆ เท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่สามารถไปทำหน้าที่ ในสภาฯได้ แต่การเดินเกมถล่มรัฐบาล นอกประเทศน่าจะทำได้ดีกว่าหลายเท่า !
การถอยห่างออกจากอำนาจคสช.ที่เคยขลัง และมีอานุภาพของพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องมี "แผนสำรอง" รองรับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะไม่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่หากจับแผนการควบคุมอำนาจผ่าน "ตัวเล่นหลัก" ที่อยู่ในสายของพล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ต้องยอมรับว่า ทุกตัวผู้เล่น แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอยู่ในตำแหน่งอำนาจเดิมแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะ "ภารกิจด้านความมั่นคง" !