วันที่ 16 ก.ค.2562 นี้นับเป็นอีกวันสำคัญของการเมืองไทย เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งยังคณะรัฐมนตรี ลงนามโดยนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรัฐมนตรีและการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยเนื้อหาระบุว่า ด้วยมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งท่านเป็นรัฐมนตรี บัดนี้ ได้พระราชทานราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 ก.ค.2562 เวลา 18.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทั้งนี้ ขอให้ไปถึงทำเนียบรัฐบาล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ก่อนเวลา 16.30 น. สำหรับการเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดรถยนต์โดยสารตู้ เพื่อให้รัฐมนตรีเดินทางไปเป็นคณะ โดยจะออกจากทำเนียบรัฐบาลเวลา 17.00 น. และเดินทางกลับพร้อมกันเมื่อเสร็จพิธี นอกจากนี้ ในหนังสือได้แจ้งการแต่งกายของคณะรัฐมนตรี คือ เครื่องแบบขาวปกติ และติดเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในหนังสือยังได้แนบเอกสารประกอบด้วย สำเนาเอกสารประกาศพระราชโองการแต่งตั้ง ขั้นตอนการปฏิบัติในการเข้าเฝ้าฯ รวมถึงแผนผังการเข้าเฝ้าฯ อีกด้วย ด้วยนับตั้งแต่การเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา กระบวนการในการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และการจัดสรรโควต้าต่างในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลาไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ปัญหาต่างๆรอการแก้ไขจากผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจในการสั่งการ บังคับบัญชา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ที่มแนวโน้มน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิฯณตนแล้ว สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสามารถประชุมครม.ได้ เพื่อให้งานต่างๆเดินหน้า ไป แม้จะยังมีอีกขั้นตอนสำคัญ ตามปฏิทินการเมืองไทย คือการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร โดย มีข่าวเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ว่า ร่างนโยบายรัฐบาลนั้นมีทั้งหมด 41 หน้า โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีใน 1 ปีแรก คือ 1.นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ จะต้องสานต่อในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ซึ่งต้องทำให้เหมาะสมและเป็นธรรม นโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ นโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน นโยบายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกิน และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น 2.นโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว อาทิ การแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตร การส่งออกสินค้าทางการเกษตร และการทำอุโมงค์ส่งน้ำจากภาคเหนือไปยังภาคอีสาน เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นร่างนโยบายในภาพรวมกว้างๆ ที่รัฐมนตรียังไม่ได้ลงรายละเอียดเพียงแต่กำหนดไว้คร่าวๆเท่านั้น ทั้งนี้มีรายงานว่า นโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทยได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายด้วย โดยมีการเขียนภาพรวมไว้กว้างๆ ว่า “สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และให้นำไปใช้ช่วยเหลือในทางการแพทย์ หากจะนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีในกระทรวง” ขณะที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในร่างนโยบายรัฐบาล โดยร่างนโยบายรัฐบาลส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยมีนโยบายเร่งด่วน 1 ปี กับ 4 ปี เร่งด่วนครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ แก้ปัญหาปากท้อง, แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, การสร้างอนาคตให้ประชาชน และการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ทั้งนี้ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือเป็นขั้นตอนที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ จะต้องทำงานหนักอีกครั้ง ด้วยจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ในภาวะที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ จึงเป็นอีกจังหวะทางการเมืองที่ต้องลุ้นให้ผ่านไปให้ได้ เพราะเป็นจุดที่ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลด้วยเช่นกัน