ทีมข่าวคิดลึก ข้อเสนอแนะจาก "สองพรรคใหญ่" ทั้ง "ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย"ที่ส่งตรงไปถึง คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเพราะไม่ว่า ที่สุดแล้ว ไม่ว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ก่อนการเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอจากสองพรรคใหญ่ซึ่งต่างเป็น "คู่ขัดแย้ง" ย่อมสะท้อนบางสิ่งบางอย่างได้ชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง "ราเมศรัตนเชวง" รองโฆษกพรรค มายื่นหนังสือ ต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาสร้างความปรองดอง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อแจ้งว่า พรรคจะขอส่งข้อคิดเห็นไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ตั้งขึ้นโดยมาตรา44 เลยทีเดียว เพื่อให้ ป.ย.ป.เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณา แต่ถึงกระนั้นราเมศ ได้ระบุว่าประชาธิปัตย์ ได้ยึดหลักที่ว่าการปรองดองจะต้องยึดถือหลักกฎหมายจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมและควรจะอธิบายรายละเอียด ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ให้สังคมได้รับทราบ ขณะที่ทางฟากพรรคเพื่อไทยเอง ได้ทำเอกสารระบุถึงปัญหา สาเหตุและทางออกเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการเสนอแนะหนทางแก้ไขปัญหาที่คล้ายกับว่าต้องการสะท้อนให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย"คิด" และ "มอง"สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรเพราะต้องไม่ลืมว่า เพื่อไทย คือพรรคการเมืองที่ถือเป็น "เงื่อนไข"สำคัญในทุกเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดรัฐประหารขึ้นในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมา "พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม มีหลักนิติธรรมไม่มีระบบสองมาตรฐานอีกต่อไปเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้ คณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องการปรองดองควรมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรมและสังคมให้การยอมรับ" นี่คือส่วนหนึ่งจากข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังชี้ถึง "ต้นตอ" ของปัญหา ว่ามาจาก"ฝ่ายตรงข้าม" จนทำให้ ราเมศ จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมาตอบโต้ทันควัน เพียงข้ามวันถัดมา เพราะพรรคเพื่อไทยระบุว่า "ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่มาผ่านเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย สาเหตุหลักเริ่มต้นเมื่อมีพรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองผ่านระบบรัฐสภาได้ จึงนำไปสู่การหาทางต่อสู้ทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา กล่าวคือ มีการใช้มวลชนในการต่อสู้ขับไล่รัฐบาล จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลให้ขยายความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น" บรรยากาศเพียงต้นทางของการสร้างความปรองดอง ดูเหมือนว่ากำลังส่อเค้าว่า "คู่ขัดแย้ง" ขาประจำ จะไม่มีใครยอมใคร ! และยังไม่นับรวมว่าเมื่อในระหว่างทางที่กระบวนการต่างๆของ ป.ย.ป. เข้าสู่โหมดดึงนักการเมืองเข้าร่วมโต๊ะ แม้จะมี "บิ๊กทหาร" กระจายกันนั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเป็น"กรรมการห้ามมวย" ก็ตาม สุดท้ายแล้วดูจะมีแนวโน้มว่าการเจรจาบนโต๊ะอาจสำเร็จได้ไม่ง่ายนัก คงต้องหันไปพึ่งพากลยุทธ์ "คุยนอกรอบ"โดย "พี่ใหญ่"อย่าง พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อหย่าศึก ก็เป็นไปได้ !