ปัญหาการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็ก เคยตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นข่าวคึกโครม กรณีเมนูอาหารขนมจีนคลุกน้ำปลา และนำไปสู่การตรวจสอบปัญหาการทุจริตค่าอาหาร จนเด็กไม่ได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าเพียงพอตามมาตรฐาน ปัญหาการสวมสิทธิ์ และการเบิกงบประมาณไปใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้มีการตื่นตัวและปูพรมตรวจสอบกันอย่างเข้มข้นมาแล้ว เชื่อว่าหลังจากมีข่าว โรงเรียนต่างๆมีการปรับตัวและตระหนักในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมากขึ้น แต่มาถึงปีนี้เพียงครึ่งปีหลังก็พบปัญหาขึ้นมาอีกในจ.นครราชสีมา โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดเขตพื้นที่ 3 พบโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา 4 แห่งส่อทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ทั้งนี้ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าได้ลงนามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ ว่า รัฐบาลห่วงใยเรื่องการจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนระดับประถมศึกษา โดยกำชับ ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) กำกับดูแลตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่ง สพฐ. ขอให้ สพป.กำชับ ควบคุม และตรวจสอบโรงเรียนในสังกัดดำเนินโครงการอาหารกลางวันให้มีความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นกับโรงเรียนในสังกัดผอ.สพป. และ ผอ.สถานศึกษา จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วและดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งนี้ ให้ สพป. รายงานผลการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันให้ สพฐ.ทราบภายในวันที่ 22 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ สพฐ.จะปูพรมตรวจสอบการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งผู้ที่เป็นตัวแทนลงไปตรวจติดตามในระดับกลุ่มโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 20 กลุ่มทั่วประเทศ เพื่อให้จัดการอาหารอย่างมีคุณภาพ และเด็กทุกคนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ แต่ที่น่าสนใจก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยนายอานนท์ มฤคศิรมาส แกนนำองค์กรเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน จ.นครราชสีมา ได้ออกมาเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เปิดเผยรายชื่อโรงเรียนทั้ง 4 แห่งที่มีการทุจริตอาหารกลางวันเด็กให้กับสาธารณชน เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้รับทราบ เกิดความกระจ่าง หายความเคลือบแคลงสงสัย ฐานะองค์กรเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาค ประชาชน จ.นครราชสีมา อยากให้เด็กๆได้สิ่งดีๆจากโรงเรียน รวมถึงอาหาร ฉะนั้นเมื่อรัฐจัดสรรงบประมาณมาให้ก็ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ไปโกงกินกัน พร้อมกันนี้ยังขอให้ ป.ป.ช. จะเอาผิดให้ถึงที่สุด สะท้อนความตื่นตัว และความตระหนักต่อปัญหาการทุจริตในภาคประชาชนมากขึ้น การทำงานของหน่วยงานต่างๆ และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตถูกจับตาและติดตามตรวจสอบจากภาคประชาชนอีกที ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและเป็นแนวโน้มที่ดีของสังคมในการไม่ทนต่อการทุจริต