แม้ "ฝ่ายการเมือง" ที่ยืนประจันหน้ากับ "คสช." จะปรามาส เย้ยเยาะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าที่สุดแล้วการกลับมาสู่ "อำนาจ" เป็นรอบที่สองของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ความเข้มขลัง อาจจะมีไม่เท่าเดิม และมีแนวโน้มว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ชุดนี้ "ประยุทธ์2/1"อาจจะมีอายุสั้น เพราะนอกจากจะอยู่ไม่ครบเทอม ยังจะไปเร็วกว่าที่นึก ! ถึงกระนั้นการคาดการณ์ของ "ขั้วการเมือง" ฝั่งตรงข้าม กลับมีขึ้นบนพื้นฐานของความหวั่นไหวของตัวเองว่า ลึกๆแล้ว ก็อดที่จะวิตกกังวลไม่ได้ว่า หากรัฐบาล "ประยุทธ์2/1" และการรีเทิร์นกลับมาครั้งใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนความแข็งแกร่งของกองทัพ จะยิ่งทำให้ "พรรคการเมือง" และ "ขั้วอำนาจ"ฝั่งตรงข้ามมีที่ยืน ได้ยากมากขึ้นทุกที สถานการณ์การเมืองวันนี้ ดูเหมือนว่า สิ่งที่รัฐบาล กำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น หากเป็นแรงเหวี่ยงจากการโจมตีของ "7พรรคฝ่ายค้าน" ในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เพราะอย่าลืมว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้วางกลไกเอาไว้เพื่อรับมือเรียบร้อยแล้ว นั่นคือบรรดาองครักษ์พิทักษ์ นายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็น "เกาะ" สกัดทุกเกมในสภาฯ ไม่ให้ลุกลามบานปลาย ไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ หากพรรคฝ่ายตรงข้ามหวังที่จะดึงเกม จากสภาฯ ออกไปยังท้องถนน ด้วยการปลุกให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก และห่างไกลความเป็นจริง เนื่องจากกองทัพ จะทำหน้าที่รับมือ สกัดทุกความเคลื่อนไหวในภาคสนาม ไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป ความจำเป็นที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ยาว หากมองในมุมการต่อสู้ทางการเมืองนั้นต้องถือว่า ช่วง5ปีกว่าที่ผ่านมา คือการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนั้นใช้ปฏิบัติการแช่แข็งพรรคเพื่อไทย และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน และเมื่อต่อมา เปิดให้มีการเลือกตั้ง สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ได้ประจักษ์ นั่นคือการที่ต้องยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ขุมข่ายอำนาจของพรรคเพื่อไทยนั้นเพียงแค่ "แกล้งตาย" ขณะที่กลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในลักษณะ "ดาวกระจาย" เกิดขึ้นเป็นระยะ แต่มีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่สามารถท้าทายคสช.มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และเครือข่ายแนวร่วม จนในที่สุดก็ดูเหมือนชัยชนะที่เกิดขึ้นกับ "พรรคอนาคตใหม่" จึงเหมือนเป็นชัยชนะของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ปฏิเสธอำนาจคสช. ดังนั้น จึงคล้ายกับว่าแท้จริงแล้วภารกิจของ คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ นั้นยังไม่จบลง ขณะเดียวกันยังต้องยอมรับว่า ตลอดช่วงเวลากว่า 5ปีที่ผ่านมา คสช.เองใช่ว่าจะไม่มี "ศัตรู" เพราะเมื่อในเกมการต่อสู้ เมื่อมีฝ่ายชนะก็ย่อมมีฝ่ายที่พ่ายแพ้ ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองต่างๆที่ผูกรัดมัดร้อยกับคสช. ทั้งบวกและลบจึงกลายเป็น แรงกดดันต่อคสช.เองที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหาทางอยู่บนหลังเสือ ไม่สามารถหาทางลงได้ ทั้งที่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งใหม่ ได้มีหลายต่อหลายฝ่ายเสนอ "ทางลงจากหลังเสือ"ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. เพราะคิดว่าจะไม่มีการต่อเวลา เมื่อคสช.เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง !