ทีมข่าวคิดลึก
ออกอาการไม่สบอารมณ์ทันที เมื่อ"พี่ใหญ่" อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกสื่อซักถามประเด็นร้อน ว่าด้วย"รัฐบาลแห่งชาติ" มิหนำซ้ำสื่อยังระบุด้วยว่ามีคนจากรัฐบาล แอบไปหารือกับ "นักการเมือง"นอกรอบมาแล้ว
แน่นอนว่าคำถามดังกล่าว ย่อมกระทบต่อการดำเนินภารกิจสร้างความปรองดองของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นข่าวที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นมาโดยใช่เหตุ !
และยิ่งเมื่อก่อนหน้านี้ มีการให้เครดิต บิ๊กป้อม ว่าเป็นผู้ที่มีคอนเน็กชั่นเหนียวแน่น กว้างขวาง สามารถประสานได้กับการเมืองทุกขั้ว ทุกสีด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ข้อสมมติฐานถูกตีวงให้แคบลงว่า "ใคร" คือผู้ที่อยู่ในข่ายจะทำหน้าที่เจรจากับฝ่ายการเมือง หากต้องมีวาระพิเศษ อย่างการจัดตั้ง รัฐบาลแห่งชาติ กันขึ้นมาจริงๆ
ในความเป็นจริงแล้วกระแสข่าวการแตะมือกับฝ่ายการเมือง โดยคสช. จาก "บิ๊กทหาร" นั้นได้มีมาโดยตลอด และต่อเนื่อง ผุดเป็นกระแสขึ้นเป็นระลอก บ้างว่ากันไปไกลถึง ขั้นที่มี "สูตรรัฐบาล" สมัยหน้าหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงกันแล้วว่าพรรคการเมืองใดจะได้รับ "ตั๋ว" เข้า ร่วมรัฐบาลกันบ้าง และ"ใคร"จะถูกโดดเดี่ยวบีบให้ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน
บางสูตร ระบุว่า คสช. จะดึงทั้งสองพรรคใหญ่ที่แม้จะต่างขั้ว ต่างอุดมการณ์ทางการเมืองกันสุดลิ่มอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" และ"พรรคเพื่อไทย" มาร่วมรัฐบาล เพื่อ"คานอำนาจ" กันเอง ขณะที่บางสูตรชี้ว่า คสช.จะเลือกเพียงพรรคใหญ่พรรคหนึ่งเท่านั้น ส่วนอีกพรรค จะถูกวางเอาไว้ให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดี กระแสข่าวการมีรัฐบาลแห่งชาติ นั้นดูจะมีแต่ส่งผลในทางที่เป็น "ลบ" ต่อคสช.และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตัว พล.อ.ประวิตรมากกว่าใครเพื่อน เพราะความหวาดระแวงที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยเช่นนี้ ย่อมทำให้ทั้ง พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ผลักดันภารกิจสำคัญๆได้ไม่ราบรื่นนัก
อาการหงุดหงิดใจของทั้ง "บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่" ที่แสดงออกต่อกระแสข่าวว่าด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติจึงออกมาในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันนั่นคือการปฏิเสธทันควัน พร้อมยืนยันว่าไม่มี "ดีลพิเศษ" ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น !
เวลานี้ สิ่งที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรค ต่างมีความหวังคือโอกาสที่จะได้ลงสนามเลือกตั้งตามโรดแมป ให้มากที่สุด โดยไม่มีการเลื่อนระยะเวลาออกไปหลายคนเชื่อว่า ด้วยสารพัดปัญหาที่รัฐบาล กำลังเผชิญหน้าอยู่ ทั้งงานด้านนโยบาย ปัญหาการเมืองที่เริ่มก่อตัว ไปจนถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ที่จะกลายเป็น "โจทย์ใหญ่" จะสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลมากที่สุด ด้วยเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ จะกลายเป็น "แรงกดดัน" ที่ทำให้คสช.และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประเมินสถานการณ์ว่าจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ และจะดำเนินบทบาทอย่างไรจึงจะสามารถรักษาคะแนนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
ว่ากันว่า ที่สุดแล้ว นี่คือไฟต์บังคับที่ทำให้ คสช. ต้องยอมปล่อยให้การเมืองเดินหน้าต่อไปตามวิถีที่คอนโทรลได้มากที่สุดเท่านั้น