สุญญากาศการเมืองไทย ที่ยังไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันสถานะของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงเนื่องจากถูกยื่นร้องให้ตีความคุณสมบัติ แม้นักกฎหมายจะชี้ว่าไม่จำเป็นต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม ภาพรวมทางการเมือง การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่เป็นไปด้วยความล่าช้า เสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ประกอบกับอยู่บนความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย โดยนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผย ว่า จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับ ล่าสุด ได้ปรับประมาณ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเติบโตเหลือ 3.5% จากเดิม ที่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอลงจากปี 2561 ที่เติบโต 4.1% และปรับประมาณการส่งออก-บริการเติบโต 2.2%จากเดิม 5.7% จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากนอกและในประเทศ ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออกของไทย และความเสี่ยงจากการเมืองไทยๆที่การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าทำให้งบประมาณ-การลงทุนภาครัฐต้องล่าช้าออกไป รวมถึงหากมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลจนกระทั่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกก็จะส่งผลต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้มีการลงนามซึ่งเป็นความเสี่ยงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยที่เติบโตชะลอตัวลงที่ 2.8%ในไตรมาสของปีนี้นั้นถือเป็นการลดลงต่ำกว่า 3%เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2558 ซึ่งเราให้น้ำหนักในประเทศมากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าที่ส่งผลในวงกว้างไปทั่วโลก แต่ก็ยังคาดหวังจีดีพีในครึ่งปีหลังจากเติบโตได้ดีที่ใกล้ๆ4% จากบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ ส่วนประเด็นการส่งออกที่ลดลงนั้น ก็เป็นโจทย์ของทางการที่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการบริโภค-ลงทุนในประเทศให้สามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงได้ และควรเป็นการลงทุนที่นำไปสู่ผลิตผลให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นในระยะสั้นๆ สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เองก็ต้องติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไปพร้อมๆกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น หากมีการปรับดอกเบี้ยลงจะกดดันให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม ดังนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อน แต่หากในครึ่งปีหลังอุปสงค์ภายในประเทศและการลงทุน ภาครัฐยังไม่เกิดตามคาด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะมีควาจำเป็นต้อง ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่เห็นถึงสาเหตุที่ จะต้องเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่า หากมองสภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทยค่อนข้างแข็งแรงและเสถียรภาพมั่นคง ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทยที่มีเสถียรภาพ ทำให้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่การเติบโตจะยังคงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต 3.6% พร้อมกันนั้น รายงานนี้ได้นำเสนอข้อแนะนำเรื่องการให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงิน(ฟินเทค)เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงที่จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งในส่วนของธุรกิจฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยนั้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนระบบนิเวศของฟินเทคเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงทางการเมือและทำให้การเมืองมีความชัดเจนในเร็ววัน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ให้ดิ่งหัว