รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่สอง / 1 ยังไม่สะเด็ดน้ำ คณะรัฐมนตรียังไม่คลอดออกมาอย่างเป็นทางการ ทว่าภายใต้สุญญากาศนี้ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีก
เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15) เหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่
ทำให้มีการหยิบยกประเด็นที่ว่าพลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่ง หัวหน้าคสช. เป็น “เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่นั้นขึ้นมา
โอยอ้างอิงกรณีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ข้อหาขัดคำสั่งให้รายงานตัวตามประกาศ คสช ซึ่งศาลได้วินิจฉัยสรุปว่า หัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานจึงเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกานั้น ไม่ได้ผูกพันทุกองค์กรเหมือนกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กระนั้น ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยกลับมาไม่แน่นอนอีกครั้ง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
เนื่องจากแม้หลังจากนี้ จะได้คณะรัฐมนตรีแล้ว ก็อาจจะต้องรอลุ้นสถานะของนายกรัฐมนตรีกันอีก เรียกว่า มีความเสี่ยงไม่จบสิ้น
ความเป็นไปได้เมื่อยื่นเรื่องต่อศาลมีสองทาง
หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องไม่รับเรื่องไว้พิจารณา
สอง ศาลมีคำสั่งให้รับเรื่องไว้พิจารณาและทำการไต่สวนต่อไป
ซึ่งในกรณีหากรับไว้พิจารณาก็จะมีแนวทางเป็นสองทางเช่นกัน คือชี้ว่าไม่ขาดคุณสมบัติ และหากในทางร้ายคือ วินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก็จะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการหากมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามา ในฐานะประธานสภาฯต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่นเดียวกับคำร้องที่ให้ตรวจสอบ ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ทั้งนี้ ระยะเวลาการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สือข่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ไม่ได้คาดหวังจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อมีข้อสงสัยแม้อาจไม่ได้รับคำตอบ ตามที่คาดหวังเหมือนเมื่อครั้งยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ แต่ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองไทย ยังไม่พ้นความเสี่ยง ที่ต้องคอยลุ้นกันทุกจังหวะ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้