ทวี สุรฤทธิกุล
ผู้มีอำนาจดูเหมือนไม่เห็นหัว ส.ส.และส.ว.
แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะสำเร็จเรียบร้อยไปแล้วอย่างทุลักทุเล แต่ผู้นำรัฐบาลและผู้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รัฐบาลนี้จะอยู่นาน” โดยอ้างถึง “ปัจจัยค้ำจุน” 2 – 3 อย่าง ได้แก่ หนึ่ง ความสามารถในการกำกับควบคุมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังคงมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด สอง การจัดการกันเองภายในพรรคที่มาร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ที่จะมี “กฎเหล็ก” ต่างๆ ออกมาควบคุม และสาม ความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้าน ที่ไม่น่าจะทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ส.ส.ทั้งหลายยังไม่อยากจะกลับไปเลือกตั้งเข้ามาใหม่ในระยะใกล้ๆ นี้ ดังที่เพียงท่านผู้นำมี “จดหมายน้อย” ออกมาปรามเป็นนัยๆ ว่าถ้าปัญหายังเป็นแบบเดิมๆ แบบเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็คงจะต้องใช้วิธีการแก้ไขแบบเดิมๆ ซึ่งหลายคนเดากันว่าน่าจะหมายถึงการไม่ให้มีสภานั้นคงอยู่ แบบที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น
ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงปัจจัยค้ำจุนเรื่องความสามารถของพลเอกประยุทธ์กับกฎเหล็กของพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะขอมีความเห็นในเรื่อง “พรรคฝ่ายค้านไร้น้ำยา” ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะมี “เครื่องเคียง” ที่สามารถส่งผลต่อการล้มครืนของรัฐบาลนั้นได้ (ที่มาของคำว่า “ไร้น้ำยา” มาจากการรับประทานขนมจีน ที่ทุกคนจะนึกเห็นแต่เส้นขนมจีนกับน้ำยาที่มาราด ดังนั้นพอขนมจีนขาดน้ำยาก็จะเป็นอาหารที่ขาดรสชาติ แต่อย่าลืมว่าในการรับประทานขนมจีนนั้น “เครื่องเคียง” คือบรรดาผักและเครื่องปรุงแต่งต่างๆ ก็มีความสำคัญ เหมือนกับที่รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของฝ่ายค้าน ซึ่งน่าจะมีผลต่อการอยู่รอดของรัฐบาลนั้นด้วย)
เหตุที่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญหรือ “ไม่เห็นหัว” ฝ่ายค้าน น่าจะมาจากการที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอยู่เต็มสภาทั้ง 250 คน แม้ว่าพรรครัฐบาลจะมีเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่เพียง 255 คนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็มีปรากฎให้เห็นอยู่แล้วถึงภาวะความไม่มั่นคงของนักการเมืองในทั้งสองสภานี้ ที่สามารถเปลี่ยนแปรไปได้ตามเวลา สถานการณ์ และผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอุดมคติหรืออุดมการณ์ของนักการเมืองเหล่านี้ ที่อาจจะปรับเปลี่ยนได้เมื่อสังคมเกิด “กระแสใหม่ๆ” เช่น มีการคอร์รัปชั่นหรือพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของผู้นำและนักการเมืองในฟากฝ่ายของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเกิดความระแวงสงสัยและเกลียดชัง นักการเมืองในกลุ่มนี้บางคน(หรืออาจจะหลายๆ คน)ก็อาจจะปรับตัวเองไปตามกระแสสังคมนั้นด้วย ซึ่งเคยเกิดขึ้นให้เห็นแล้วหลายครั้ง
ขณะนี้ในฟากฝ่ายของฝ่ายค้านก็มีการรวมตัวกันเป็น “พันธมิตร 7 พรรค” ที่แม้ว่าจะมีเสียง ส.ส.เพียง 244 เสียง แต่ถ้ามีการวางยุทธศาสตร์ให้มั่นคงและเข้มแข็ง ก็อาจจะสามมารถ “สั่นคลอน” รัฐบาลได้พอควร หรืออาจถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างเกิดขึ้นได้ เช่น การปลุกเร้ากระแสสังคมให้เข้ามาช่วยตรวจสอบควบคุมรัฐบาลนั้น เป็นต้น แต่ในขั้นนี้ยังมีอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านควรจะทำการรณรงค์และนำเสนอเป็นประเด็นในการต่อสู้ก็คือ “ศักดิ์ศรีของผู้แทนปวงชนชาวไทย”
สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. น่าจะมีความรู้สึกร่วมกันว่า ผู้มีอำนาจ(หมายถึงผู้นำรัฐบาลและผู้วางกลไกในการควบคุมอำนาจต่างๆ อย่างที่เห็นกันอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญและกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ)ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เท่าใดนัก หรืออาจจะไม่เห็นหัว ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมดนี้ก็ว่าได้ คือมีการริดรอนอำนาจในการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล โดยในส่วนของ ส.ว.ก็ใช้ระบบแต่งตั้ง ให้เป็นรูปแบบของ “บุญคุณต้องทดแทน” และไม่กล้าหือต่อผู้มีอำนาจ ในขณะที่ ส.ส.ก็ให้มาจากระบบเบี้ยหัวแตก ที่ไม่ต้องการให้มีพรรคใหญ่ขึ้นมาเป็นก้างขวางคอของรัฐบาล ทั้งนี้คงไม่ต้องพูดถึงกลไกที่วางไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยให้กองทัพยังคงค้ำจุนรัฐบาลนี้อยู่ รัฐบาลจึงไม่ค่อยหวั่นเกรงอิทธิฤทธิ์ของสมาชิกทั้งสองสภานั้นเท่าใด กล่าวโดยรวมก็คือ ส.ส.และ ส.ว.ไม่มีความหมายและไร้ศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง
ฝ่ายค้านอาจจะต้องตั้งคณะทำงานทางวิชาการมา “ชำแหละ” บรรดาข้ออุปสรรคและกฎหมายต่างๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงไปจนถึงข้อบังคับการประชุมสภา ดูซิว่าได้ “ลดเกียรติและดูหมิ่นศักดิ์ศรี” ของผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างไรบ้าง จากนั้นอาจจะต้องมีการหาหนทางแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนข้ออุปสรรคและกฎหมายเหล่านั้น และต้องพยายามสื่อสารกับสังคมและให้ความรู้แก่ผู้คนว่าทำไมต้องแก้ไขและปรับเปลี่ยน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างระบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง ที่จะต้องเริ่มกับการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกรัฐสภา ที่ในระบบรัฐสภาพวกเขาคือผู้แทนของประชาชน ซึ่งก็คือการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชนนั่นเอง
ถ้าผู้มีอำนาจยังคงเฉยชา ฝ่ายค้านก็น่าจะพิจารณาต่อไปได้ว่ายังจะอยู่ในสภาโดยไร้เกียรติและศักดิ์ศรีอีกต่อไปได้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับ ส.ส.และส.ว.ในฟากฝ่ายของรัฐบาล มาตรการอย่างหนึ่งก็คือ “การบอยคอต” ซึ่งหมายถึงการไม่ให้ความร่วมมือหรือแยกตัวออกมา อย่างที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “ไม่ร่วมสังฆกรรม” ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ต้องการจะทำหน้าที่ “ให้เหมาะสม” นั่นก็คือการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาชน และในท่ามกลางความง่อนแง่นของรัฐบาลที่ต้องต่อรองผลประโยชน์กับ ส.ส.และ ส.ว.ในฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้อยู่รอด การทำหน้าที่ฝ่ายค้าน “อย่างสร้างสรรค์” ก็อาจจะนำมาซึ่งชื่อเสียงและความนิยมของสมาชิกในฝ่ายค้าน อันจะนำมาซึ่งชัยชนะมาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจจะไม่นานนี้
ระวังตัวอย่าเป็น “น้ำเน่า” และทำตัวให้เป็นที่พึ่งที่หวัง “ที่ดี” ก็พอแล้ว