ภายใต้ลมหายใจรวยรินของสื่อกระดาษ และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในโลคยุคดิจิตัล การเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา ท้าทายความอยู่รอดของธุรกิจสื่อ ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ แต่รวมทั้งวิทยุ และทีวีดิจิตัลเอง ที่การมาถึงของ เทคโนโลยี 5 จี ในอนาคตนั้น จะเป็นดาบสองคม ที่ให้ทั้งคุณและโทษ
ขณะเดียวกันก็มีคำถามเรื่อง “จริยธรรม”สื่อ โดยเฉพาะในห้วงเวลาบรรยากาศเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเห็นต่างกันสองขั้ว บทบาทของสื่อนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เช่นนี้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้เปราะบางและน่าเป็นห่วง บางช่วง บางตอนจากการปาฐกถาพิเศษของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีประเด็นที่น่าสนใจที่ควรหยิบยกมากล่าวถึงอีกครั้งในที่นี้ดังนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่าโลกยุคดิจิทัล ทำให้เรามีความก้าวหน้าในการใช้ชีวิต มีการติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็วในทุกรูปแบบ การเดินทางสะดวกด้วย GPS รวมทั้งมีการนำดิจิทัลมาช่วยการผ่าตัดรักษาโรคในวงการแพทย์อีกด้วย และประเทศไทย ก็ได้มีการเดินก้าวหน้าตามโลกดิจิทัลแล้ว
ฉะนั้น การปรับตัว จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงอยู่ในยุคดิจิทัล เหมือนเช่น สื่อมวลชนต้องชื่นชม มีการเปลี่ยนพฤติกรรมให้ก้าวทันยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการส่งข่าวด่วน (Breaking News) ที่รวดเร็ว ซึ่งช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของคนอ่านข่าว เพราะฐานดิจิทัล หรือฐานมือถือ เป็นฐานผู้อ่านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขณะที่การปรับตัวของหนังสือพิมพ์ คือการสรุปประมวลเหตุการณ์ เล่าเรื่องครบถ้วน มีการวิเคราะห์ข่าวจากเหตุการณ์จริง จะไม่ตีพิมพ์ข่าวซ้ำกับที่ลงเว็บไซต์ หรือออกข่าวทางโทรทัศน์ไปแล้ว ทำให้คนอ่านไม่เบื่อ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องทำความจริงให้ปรากฏ มีความรอบคอบ ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง
“แต่สิ่งที่น่าเสียใจ ขณะที่การใช้ชีวิตเราก้าวหน้าไปตามโลกดิจิทัล แต่มีสิ่งที่ถอยหลัง และถอยหลังถึง 50 ปี คือ การเมืองไทย ซึ่งมีความรู้สึกเหมือนเช่นตอนก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า ทำไมกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหารถึงมีอภิสิทธิ์เหนือเรา เหนือฝ่ายเอกชน หรือเหนือข้าราชการด้วยกัน และยังมีเหตุการณ์ตอนปี 2549 มาบวก ที่เรียกว่า ขวากระแทกซ้าย จึงรู้สึกเป็นห่วงไม่อยากเลยเถิดไปมากกว่านี้
โดยอยากให้ฝ่ายปกครองที่เป็นผู้ใหญ่ ใช้ความเฉลียวฉลาดให้มากกว่านี้ มีจิตใจเปิดกว้าง คนไทยก็คือคนไทยด้วยกัน อย่ามองคนไทยบางกลุ่มเป็นคนทำลายชาติ ไม่มีใครอยากทำลายชาติ เขาอาจมีความคิดก้าวหน้าไปนิด เราก้าวไม่ทันกลายเป็นทำลายไป และคิดไปในทางไม่ดี ฉะนั้นควรฟังก่อน และเตือน คนไทยด้วยกันอย่างไรก็ฟังกัน
ทั้งนี้ คิดว่าทางแก้ที่ดีที่สุด ฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายที่เป็นผู้ใหญ่ ต้องใจเย็น มีสติ เปิดใจให้กว้าง อย่างไรเราก็ผู้ใหญ่กว่า และเหนือกว่าเขาอยู่แล้ว ให้โอกาส รับฟัง หรือชี้แจง เด็กก็เชื่อผู้ใหญ่ ไม่มีเด็กคนไหนมานั่งด่าผู้ใหญ่ เพราะเชื่อว่าทุกคนรักชาติเหมือนกัน ถ้ามีความปองดอง ประเทศไทยก็จะน่าอยู่”
เราเห็นว่า สาระจากปาฐกถาพิเศษของอดีตรองนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ในอันจะกระตุกเตือนสังคม ผู้มีอำนาจและผู้เล่นในกระดานการเมืองทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน ให้ฉุกคิดและปรับตัวกันได้ทัน