ทีมข่าวคิดลึก
คะแนนนิยม ของ "บิ๊กตู่" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงนำโด่ง และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็น จาก "สวนดุสิตโพล"พบว่าประชาชนยังสนับสนุน ให้ บิ๊กตู่ เป็นผู้นำในการสร้างความปรองดอง และเป็นแบบอย่างที่ดี ถึงร้อยละ 75
แน่นอนว่าคะแนนเฉพาะตัวของ ผู้นำ คสช.และหัวหน้ารัฐบาลยังน่าจะช่วยประคับประคอง "แม่น้ำ 5 สาย" เพื่อให้โรดแมปสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด !
ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนอาจไม่ได้หนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการสร้างความปรองดองเท่านั้น หากแต่ยังคาดหวังที่จะให้บิ๊กตู่ เป็นผู้นำขับเคลื่อนวาระสำคัญในทุกๆ เรื่องด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศการบริหารนโยบายไปจนถึงการวางยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี สิ่งต่างๆเหล่านี้คืองานใหญ่ที่กำลังรอการผลักดันจาก พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้ระยะเวลาที่ถูกกำหนดกรอบเอาไว้
อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าภารกิจที่มีความสำคัญที่หลายต่อหลายฝ่ายหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ก่อนการเลือกตั้งนั่นคือ การสร้างความปรองดอง เพราะนี่คือ เงื่อนไขที่จะส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง เป็นอย่างยิ่ง !
ขณะเดียวกันยังมีฝ่ายการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เชื่อว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่ว่าจะหันมองไปทางไหน ยังพบว่า
ต่างฝ่ายต่างยังคงตั้งแง่ยืนอยู่ในมุมของตัวเอง อีกทั้งยังเชื่อว่าที่สุดแล้วปฏิบัติการสร้างความปรองดองนั้นจะเป็นเพียงแค่ "ปาหี่" ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น !
ล่าสุด "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ลงมารับบท "มิสเตอร์ปรองดอง" ได้แสดงอาการ "ไม่ปลื้ม" สื่อมวลชนเมื่อต้องมาตอบคำถามที่บิ๊กป้อมบอกเลยว่า "เพ้อเจ้อ" เพราะมีข่าวว่า มีคนในรัฐบาลดอดไปเจรจา กับ"พรรคการเมือง" บางพรรคเพื่อเตรียมตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" งานนี้บิ๊กป้อม ยืนยันเสียงแข็งว่าไม่เป็นความจริง และทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยต้องไปเจรจา หรือพูดคุยกับใครบ้าง
ภารกิจการสร้างความปรองดองของ คสช.และรัฐบาลกำลังดำเนินเดินหน้าไป โดยผ่านคณะกรรมการ ชุดต่างๆ ทว่าในเวลาเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าลึกๆ แล้วยังมีความหวาดระแวง ความไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่นจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ"พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง" เพราะต้องไม่ลืมว่าขั้วอำนาจเก่านั้นตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ และยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม คสช.
หลายคนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด น่าจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพราะนี่คือการกำหนดกรอบ วางกฎกติกาเพื่อขีดให้ "ใคร" ก็ตามที่จะมาใหม่เป็นรัฐบาลใหม่ ต้องเดินตามสิ่งที่วางเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เคยประกาศเอาไว้ชัดเจน ดังนั้นประเด็นที่ว่าด้วยการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นเรื่องที่ นักการเมือง และ "รัฐบาลใหม่" อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ว่าที่สุดแล้วพวกเขาจะต้องดำรงอยู่ใต้ "อำนาจ" ของ คสช.ต่อไปอีกยาวนาน ใช่หรือไม่ ?
สารพัดภารกิจมากมายที่รอให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน และมีแนวโน้มว่า ตัวบิ๊กตู่เองยังต้องใช้ "คะแนนนิยม" ที่มีอยู่เป็นต้นทุนเดิมของตนเอง ในการแก้ไขสถานการณ์และปัญหาไปอีกหลายเรื่องหลายช็อต !