ทองแถม นาถจำนง ผู้สูงวัยสักหน่อยคงจะเคยได้ยินชื่อพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย คือ “พรรคก้าวหน้า” วิกิพีเดีย อธิบายว่า “พรรคก้าวหน้า เป็นพรรคการเมืองแรกของประเทศไทยที่กำเนิดขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่ให้สิทธิเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง โดยที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงมิได้เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากแต่มีรัฐธรรมนูญให้การรับรอง มีหัวหน้าพรรค คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และสมาชิกคนสำคัญ เช่น นายสุวิชช พันธเศรษฐ, นายสอ เศรษฐบุตร, พระยาสุรพันธุ์เสนี, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, พระยาโทณวณิกมนตรี, นายเลียง ไชยกาล, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับคณะราษฎรหลายประการ และหลายคนได้เข้าร่วมกับกบฏบวรเดช และถูกจับกุม เมื่อพ้นโทษออกมาจึงได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคขึ้น  ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2489 ได้มีการตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา พรรคก้าวหน้าจึงยุบเข้ารวมเป็นพรรคเดียวกัน”
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช
"ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช"
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าสู่วงการเมืองเมืองไทยจริง ๆ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สภาพการเมืองตอนนั้นเป็นอย่างไร ขอยกเรื่องราวที่คุณ “สามน กฤษณะ” เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ส.ส คึกฤทธิ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช” สำนักพิมพ์บรรณาคาร บทที่ 2 “ปูมเมือง” ดังต่อไปนี้ “ภาวะการเมืองและสถานการณ์การเมืองไทยในระยะที่คึกฤทธิ์เข้าเล่นการเมือง สมัครเข้ารับเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส พระนคร สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ กองทัพเยอรมันยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรและโซเวียตรัสเซีย เมื่อ วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นมหามิตรของไทยยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตร (ยกเว้นรัสเซีย) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม วันที่ 15 สิงหาคม รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะ เพราะประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกับการประกาศสงครามนั้น รุ่งขึ้นวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลนายควง ลาออกตามวิถีทางการเมือง นายทวี บุณยะเกตุ เข้าเป็นรัฐบาล “17 วัน” แทน เพื่อให้ ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช พี่ชายคึกฤทธิ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทยนอกระเทศเดินทางเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล เพื่อเจรจากับฝ่ายสหประชาชาติผู้ชนะสงครามต่อไป ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ได้ดำเนินการเจรจาขับเคี่ยวกับฝ่ายสหประชาชาติผู้ชนะสงครามอย่างหนัก เพราะแม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ และประเทศผู้ชนะสงครามยอมรับประกาศนั้นก็ตาม แต่ก็มีบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและอังกฤษได้บีบคั้นตั้งข้อเรียกร้องต่าง ๆ กับไทยอ่างแรง ทำให้รัฐบาลต้องขบปัญหาอย่างหน้าดำคร่ำเครียด และเมื่อการเจรจาเบื้องต้นคลี่คลายไปพอสมควรแล้ว หมดอันตราย แล้ว ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช ก็ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนได้ต่ออายุระหว่างสงครามถึง 2 ครั้งแล้ว และเพื่อสร้างความเข้าใจและบรรยากาศอันดีในการเจรจากับบรรดาประเทศสหประชาชาติโดยมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ คึกฤทธิ์ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตอนนี้ และได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้น ซึ่งเป็นการเล่นการเมืองก้าวใหม่ของเมืองไทย ให้ชื่อว่า “พรรคก้าวหน้า” โดยคึกฤทธิ์เองเป็นหัวหน้าพรรค สนับสนุนนายควงอย่างเปิดเผย ต่อมาพรรคก้าวหน้าก็ได้กลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และคึกฤทธิ์เป็นเลขาธิการพรรคคนแรกของประชาธิปัตย์ ซึงได้เป็นกำลังสำคัญที่ขับเคี่ยวกับพรรคการเมืองกลุ่มสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ นักการเมืองชั้นนำ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างถึงพริกถึงขิง และเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกหลายรัฐบาลต่อมา
นาย ควง   อภัยวงศ์
"นาย ควง อภัยวงศ์"
การเลือกตั้งครั้งนั้น คึกฤทธิ์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. พระนคร เขต 3 (การเลือกตั้งสมัยนั้นยงใช้ระบบแบ่งเขต) เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากที่ได้เป็นรัฐบาลครั้งแรก มีเสียงสนับสนุนข้างมากในสภา (ยังเป็นสภาระบบ ส.ส. ประเภท 1 ประเภท 2 หรือ ส.ส.เลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกัน นายควง และ ม.ร.ว เสนีย์ ยังเป็น ส.ส. ประเภท 1) ได้จัดตั้งรัฐบาล นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายสหประชาชาติต่อไป แต่ไม่มีชื่อคึกฤทธิ์อยู่ในคณะรัฐมนตรีของนายควง นายควงจะเห็นว่าคึกฤทธิ์มีอาวุโสทางการเมืองไม่พอหรืออย่างไรไม่ปรากฏ แม้ในบัญชีคณะรัฐมนตรีของนายควงชุดต่อมา ซึ่งคณะรัฐประหารของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เชิญให้นายควงจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่มีชื่อคึกฤทธิ์อยู่ในตำแหน่งคณะรัฐมนตรี จนถึงจอมพลแปลก พิบูลสงคราม “หัวใจ” ของคณะรับประหารข้องใจประท้วงขึ้น นายควงจึงใส่ชื่อ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีลอย และ ม.จ วิวัฒไชย ไชยยันต์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดึงไปเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังกับท่าน เพราะท่านเคยทรงเห็นฝีมือกันมาก่อน คึกฤทธิ์เคยรับราชการในกระทรวงการคลังหลายตำแหน่ง และตำแหน่งสุดท้ายในธนาคารชาติ และเคยเป็นผู้จัดการธนาคารพาณิชย์มาก่อนเป็น ส.ส. คึกฤทธิ์เคยรับราชการทหารและเข้าสนามสงครามอินโดจีนและไทยใหญ่ ได้รับยศเป็นสิบตรี และในเอกสารของสภาเคยใช้คำว่า ส.ต หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เพียงครั้งเดียวเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับทหารฉบับหนึ่ง ในช่วงระยะแรก ส.ส. หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก เพราะเป็นสมาชิกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล จึงสงวนบทบาทในสภาตามมารยาทของสมาชิกฝ่ายรัฐบาล…………. งานชิ้นสำคัญของ ส.ส. หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ในสภาสมัยรัฐบาลนายควงคือ เป็นกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2489 ซึ่งแยกรัฐสภาออกเป็นสองสภา ได้แก่ พฤฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับมาตรฐานที่ใช้เป็นแบบอย่างของรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ การอภิปรายแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความแปลกใจให้กับนักการเมืองชั้นผู้นำของกลุ่มฝ่ายซ้าย ถึงกับกล่าวต่อผู้ใกล้ชิดว่า ‘นึกไม่ถึงว่า คึกฤทธิ์ซึ่งเป็นพวกเจ้า จะมีความคิดในเรื่องประชาธิปไตยอย่างถูกต้องจริง ๆ แม้แต่ในพวกเราก็มีไม่ถึงเขา’ เสียใจที่ไม่อาจจะเปิดเผยนามของนักการเมืองผู้นั้นได้........... รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ชุดหลังเลือกตั้งทั่วไป มองผิวเผินจากภายนอกแม้ว่าจะดูราบรื่นดี แต่การเมืองภายในมีอาการแตกแยกระหว่างผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะระหว่างนายควง อภัยวงศ์ กับนาย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต่างเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยกันทั้งคู่ ได้คุและระอุแรงขึ้นเป็นลำดับ ต่างมีการตั้งกลุ่มเป็นพรรคการเมืองสนับสนุนแต่ละฝ่าย คึกฤทธิ์ซึ่งได้ตั้งพรรคก้าวหน้า สลายตัวรวมกับพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนนายควง ส่วนฝ่ายสนับสนุนนายปรีดีตั้งพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญซึ่งมีนโยบายโน้มไปทางโซเชียลลิสต์ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายไปทางเสรีนิยม และได้เปิดการต่อสู้ตามวิถีทางการเมืองอย่างเปิดเผย..... รัฐบาลนายควงชุดนี้ มีอายุเพียง ๕๕ วันเท่านั้น.... นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมือวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 งานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสภาซึ่งเริ่มขึ้นระหว่างสมัยรัฐบาลนายควง ได้สำเร็จในสมัยรัฐบาลนายปรีดี... แล้วก็มีการเลือกตั้งทั่วไปเพิ่มเติม (แทน ส.ส.ประเภท 2).... การรณรงค์หาเสียงของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพระนคร ต่างฝ่ายต่างนำวิธีกาเสียงแบบเปิดไฮด์ปาร์คมาใช้ และต่อสูกันอย่างถึงพริกถึงขิง คึกฤทธิ์ได้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์หาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแม่เหล็กสำคัญคนหนึ่งที่ดึงดูความสนใจของประชาชนให้มาฟังคำปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างล้นหลาเป็นประวัติการที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนพอใจสำนวนโวหารที่คมเป็นตะไกร ถูกใจ ครึกครื้น ชื่อ “หม่อมคึกฤทธิ์” ติดปากประชนนับแต่นั้นมา”
ม.ร.ว. นิมิตรมงคล  นวรัตน
"ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน"