แก้วกานต์ กองโชค บริษัท โรลส์-รอยซ์ เจ้าของธุรกิจเครื่องยนต์อากาศยานของโลกสัญชาติอังกฤษที่สำคัญของโลก ต้องตกเป็นเป้าสายตา เมื่อถูกศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับเป็นเงิน 671 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกยึดทรัพย์  โรลส์-รอยซ์มีบริษัทลูกในประเทศไทยคือ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 ทุนปัจจุบัน 3 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 900 อาคารต้นสน ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  โดยประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิศวกรรมอากาศยาน และมีนายโจนาธาน แอชเชอร์สัน นายฮิวจ์ วนิชประภา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ  เป็นที่รู้ว่า หากจะมีการให้สินบนก็ต้องผ่านโรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลการสอบสวนของสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของอังกฤษระบุว่า บ.โรลส์-รอยส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทยและการบินไทยรวม 3 ครั้ง มูลค่า 36.38 ล้านดอลล่าร์ (1,300 ล้านบาท) ครั้งแรกปี 2534 -2535 จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย ผ่านนายหน้าจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เลือกซื้อเครื่องไอพ่นT800 สำหรับโบอิ้ง777 ของการบินไทย ในช่วงรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน  ครั้งที่ 2 ปี2535 -2540 จ่ายสินบนให้พนักงานการบินไทย 10.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต2 โดยเบิกล่วงหน้า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อ"จัดการขั้นตอนทางการเมือง" ในช่วงรัฐบาล นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา  และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  ครั้งที่ 3 ปี 2547-2548 จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานการบินไทย 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต3 โดยได้ไปคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัญญา รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นั่นจึงทำให้มีการกำหนด “พิกัด” เวลาและสถานที่ของ “ผู้รับผิดชอบ” ในการบินไทย และรัฐบาล เพื่อส่งสัญญานความรับผิดชอบให้รู้ตัว โดยเฉพาะนักการเมืองที่อาจจะหมดสิทธิ์กลับเข้าสู่ถนนการเมืองในอนาคตอีกต่อไป นอกจากการบินไทยแล้ว กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 385 ล้านบาท ในช่วงปี 2546-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการของ 2 บริษัทการดำเนินธุรกิจของ ปตท. สำนักข่าวอิศราได้สืบค้นข้อมูล “พิกัด”ของเหตุการณ์แล้วพบว่า ในช่วงระหว่างปี 2553 -2555 (3 ปี) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด ได้ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงิน 254,553,893 บาท รายงานของกระทรวงยุติธรรมและก.ล.ต.สหรัฐระบุว่า ประมาณช่วงปี 2543 ถึง 2555 บริษัทโรลส์รอยส์ บริษัท PRESI (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโรลส์รอยส์) ผู้บริหาร1 ราย พนักงานอีก 3 ราย และไม่สามารถระบุได้อีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบน ให้กับนายหน้ารวมถึงที่ปรึกษาด้านการค้า เป็นค่าคอมมิสชั่นในการล็อบบี้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ. ให้จัดทำสัญญาจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงบริการดูเเลหลังการขาย  ทั้งนี้การจ่ายสินบน เกิดขึ้นระหว่างปี 2546-2555 โดยบริษัท PRESI ได้จ่ายเงินสินบนประมาณ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยโครงการที่ทางบริษัท PRESI ชนะการประมูลได้แก่ 1.โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) จำนวนเงิน 2,494,728 ดอลล่าร์สหรัฐ 2.โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 จำนวนเงิน 2,287,200 ดอลล่าร์สหรัฐ 3.หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) จำนวนเงิน1,386,389 ดอลล่าร์สหรัฐ 4.แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) 1,096,006 ดอลล่าร์สหรัฐ 5.โครงการ PCS จำนวนเงิน 2,073,010 ดอลล่าร์สหรัฐ 6.โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) จำนวนเงิน 1,934,031 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ในช่วงปี 2546-2554 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คือนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ คนต่อมา  คือ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ส่วนผู้บริหารคนปัจจุบันคือ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช  ภาพพจน์ ปตท. องค์กรในฝันของคนทำงาน...ไม่มีเหลือครับพี่น้อง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจปิดฉากชีวิตทางการเมืองทีเดียว !!!