จะด้วยเพราะเสร็จสิ้นภารกิจ อดทนผลักดันทุกงานใหญ่ๆของ "พรรคเพื่อไทย" ลงไปเรียบร้อยแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่การประกาศวางมือ ของ "ภูมิธรรม เวชยชัย" จากตำแหน่ง "เลขาธิการพรรคเพื่อไทย" อย่างเป็นทางการเมืองเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา กำลังสะท้อนให้เห็นถึงโหมดแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะขึ้นในพรรคเพื่อไทย ในเร็วๆนี้ แม้หลายคนจะรู้ดีว่า ภูมิธรรม คือมือทำงานที่ได้รับความไว้วางใจจาก "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อครั้งที่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนใหญ่โต โดดเด่นเหนือทุกพรรคการเมืองเมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2543 และก็ยังคงเป็นคนที่ชื่อ ภูมิธรรมอีกเช่นเคยที่ยังอยู่กับพรรคการเมืองที่สืบทอดกันมาหลังจากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ จนมาถึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย แต่แล้ว ภูมิธรรมกลับเลือกประกาศวางมือ จากตำแหน่งแม่บ้านพรรค จากนั้นเกิดความเคลื่อนไหวที่เป็นภาพตัดสลับกลับไปที่ "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์"ส.ส.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับความไว้วางใจจาก "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" แกนนำพรรคเพื่อไทย และน้องสาวทักษิณ ให้สมพงษ์ ไปนั่งในเก้าอี้ "หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม" ก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อพรรคเพื่อธรรม ไปไม่รอด สมพงษ์ ก็กลับมาปักหลักอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ชื่อของสมพงษ์ ถูกโยนลงมาเช็คกระแส เป็นระยะในฐานะ "ว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่" แทนที่ "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" หัวหน้าพรรคคนเก่าที่บัดนี้ได้ยื่นหนังสือลาออกไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อจำใจยอมเปิดทางให้กับ สมพงษ์ อันเป็นที่รับรู้กันว่าสมพงษ์เป็นคนของใคร และถ้ามองกันต่อไปอีกช็อต ก็จะได้คำตอบว่า การมาของสมพงษ์ ในฐานะ "หัวหน้าพรรคคนใหม่" ของพรรคเพื่อไทย ยังต้องจับตาด้วยว่า คิวต่อไป "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" คนในครอบครัวชินวัตร จะเข้ามานั่งในเก้าอี้สำคัญของพรรคเป็นคิวต่อไปหรือไม่ ดังนั้นแท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพื่อไทย ผ่านการปรับโฉมหน้า "คณะกรรมการบริหารชุดใหม่" ทั้งตัวหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ที่มีชื่อ "เด็กในคาถา" ของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" แกนนำพรรค อย่าง "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" ส.ส.กทม.นั้นจะสมหวังหรือไม่ เพราะหากมีชื่อสมพงษ์ นั่งหัวหน้าพรรค ตามโผเดิม และน.อ.อนุดิษฐ์ นั่งเก้าอี้แม่บ้านพรรค ย่อมหมายความว่า นี่คือการบริหารพรรคโดย "นอมินี" ของทั้งกลุ่มเยาวภา กับกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ แต่เรื่องราวจะง่ายดาย และลงตัวเช่นนั้นได้จริงหรือ เพราะว่ากันว่า "เป้าหมายใหญ่" ของกลุ่มเยาวภา นั้นยังไม่ได้ยุติลงที่การส่งสมพงษ์ มานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค เท่านั้น แต่การสนับสนุน "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกฯ ในฐานะคนของตระกูลชินวัตร ให้กลับมาเป็น "นายกฯ" นั้นยังคงมีอยู่ ชัยชนะในสนามเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย กลับไม่สามารถนำพาพรรคไปถึงเป้าหมาย คือการเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ซึ่งความพ่ายแพ้รอบนี้ สำหรับพรรคเพื่อไทย คือโจทย์ข้อยาก ที่เจ้าของพรรคตัวจริง เสียงจริงที่บัญชาการข้ามประเทศ จะเดินเกมจากนี้ต่อไปอย่างไร เพราะหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยเองต้องมีความพร้อมมากพอ และหากสถานการณ์ทางการเมือง บีบให้เพื่อไทยตกเป็นรอง เมื่อรัฐบาล "ประยุทธ์2/1"อยู่ยาว พรรคจะดำรงกันต่อไปเช่นใด ! ?