รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คงต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ สถานการณ์การเมืองไทย ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความร้อนแรงอย่างมาก ตลอดจนเป็นประเด็นร้อนที่ใครต่อใครต่างพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง สื่อทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่เว็บไซต์ ต่างนำเสนอข่าวเรื่องการบ้านการเมืองในหลากหลายแง่มุม (เรียกได้ว่าถ้าใครไม่รู้เรื่อง...ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวของ “การเมือง” ก็พูดเต็มปากได้ว่า “เชยระเบิด”..!!)
กระแสการเมืองที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในหลากหลายประเด็นไม่ว่าเป็นกรณีความขัดแย้งภายในพลังประรัฐ ซึ่งร้าวลึก!! เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล กรณีที่มาของ ส.ว. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่การรับคำร้องกรณี 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ที่ถูกจับจ้องจากสังคมถึงการทำหน้าที่แบบสองมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อตาม “ทฤษฎีการกำหนดวาระ” (Agenda Setting Theory)
ทฤษฎีดังกล่าวมีความเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลในเรื่องของความรู้ (Cognitive Theory) มีมุมมองว่าสื่อมวลชนจะสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ผู้คนสนใจติดตามเรื่องราวนั้น เมื่อให้ความสนใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่องแล้วนำเสนอเรื่องราวนั้น ๆ ออกสู่สาธารณชนให้รับทราบเป็นประจำสืบเนื่องกันไปสักระยะหนึ่ง ผลจากการกระทำเช่นนี้นั้น สามารถทำให้สาธารณชนส่วนใหญ่เกิดความคล้อยตาม และรู้สึกว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องให้ความสำคัญ
การให้ความสำคัญ การติดตามข่าวสารของคนในสังคม จนทำให้คนในสังคมให้ความสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการเมือง เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งประชาชนควรรับรู้ ตลอดจนให้ความสนใจ ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อ จนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในเรื่องการเมือง จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
ภาพสะท้อนการทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมของสื่อ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และมีความสนใจเรื่องการเมือง ตลอดจนสามารถมองเห็นปัญหาการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างชัดเจน ก็คือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเด็น “ปัญหาการเมืองไทย” ที่คาใจประชาชน ณ วันนี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,327 คน สรุปผลได้ ดังนี้
ปัญหาการเมืองไทยที่คาใจประชาชน ณ วันนี้ มากที่สุด ร้อยละ 46.87 คือ การจัดตั้งรัฐบาล /เก้าอี้รัฐมนตรี เพราะ ยังไม่เห็นความชัดเจน ใช้เวลานานในการจัดตั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ คุณสมบัติรัฐมนตรีแต่ละคนเหมาะสมเพียงใด ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 38.28 เพราะมีมาทุกยุคทุกสมัย มีการปราบปรามแต่ไม่ลดลง ควรจับกุมผู้ที่มีอิทธิพลหรือตัวการใหญ่ให้ได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ฯลฯ ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ร้อยละ 33.38 เพราะกกต. ยังไม่ชี้แจงในประเด็นที่คลุมเครือ การนับคะแนน สูตรคำนวณไม่เป็นที่ยอมรับ มีการโกงเลือกตั้งจริงใช่หรือไม่ ฯลฯ การบริหารประเทศของรัฐบาล /นโยบายประชารัฐ ร้อยละ 26.53 เพราะประเทศอยู่ในภาวะหยุดชะงัก บริหารงานไม่ต่อเนื่อง นโยบายที่หาเสียงไว้จะสามารถทำได้หรือไม่ รัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบ วาระ ฯลฯ
ที่มา 250 ส.ว./บทบาทและอำนาจหน้าที่ ร้อยละ 25.62 เพราะหลักเกณฑ์การสรรหาและการคัดเลือกไม่โปร่งใส มีทั้งระบบพวกพ้อง เครือญาติ ทำไม ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ได้ ฯลฯ การบังคับใช้กฎหมาย /กฎหมายรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 22.31 เพราะมีความเอนเอียง สองมาตรฐาน ใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วม ฯลฯ ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. /ถือหุ้นสื่อ ร้อยละ 21.85 เพราะควรดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สองมาตรฐาน ควรตรวจสอบให้ละเอียดทุกพรรค ปฏิบัติให้เหมือนกัน ฯลฯ
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ร้อยละ 19.74 เพราะชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ต้องดิ้นรน ช่วยเหลือตนเอง ค่าครองชีพสูง ของกิน-ของใช้แพง ยังไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ฯลฯการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ ร้อยละ 17.33 เพราะมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่สามารถตรวจสอบได้ มีผู้ได้รับประโยชน์เพียงบางกลุ่ม ไม่ทั่วถึง อาจมีการทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ และคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง ร้อยละ 14.77 เพราะเป็นปัญหาวิกฤติ นักการเมืองขาดคุณธรรมจริยธรรม ใช้ระบบอุปถัมภ์ สนับสนุนแต่พวกพ้อง ไม่คำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ ฯลฯ
ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ “ปัญหาการเมืองไทย” ที่คาใจประชาชน ณ วันนี้ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในประเด็นที่มีความหลากหลายได้ค่อนข้างชัดเจนและตรงประเด็น ย่อมเกิดจากการที่ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่มากเพียงพอนั่นเอง (คงต้อง “ยกความดีความชอบ” ให้สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลแบบ 360 องศา ได้อย่างดีเยี่ยมจริงจริง..!!)
แล้วเมื่อประชาชนมีข้อมูลมากพอจนสามารถแยกแยะได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นประเด็นปัญหาการเมืองไทยแล้ว ก็น่าจะทำให้พูดได้ค่อนข้างเต็มปากว่า การจัดตั้งรัฐบาล และการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่ใช่แค่เรื่องการต่อรองทางการเมืองธรรมดา แต่ดูเหมือนจะเป็นกรณีที่กำลังขยายตัว สู่การเป็น “วิกฤติปัญหาทางการเมืองไทย” อีกครั้ง
สุดท้ายหวังว่า “ปัญหาการเมืองไทย” คงไม่ได้คาใจ...รบกวนความรู้สึกเพียงแค่ประชาชนเท่านั้น แต่ขอให้ “นักการเมือง” “รู้ร้อนรู้หนาว” และหาทางแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้ประเทศชาติพอเดินหน้าต่อได้บ้าง...เพียงแค่นี้ก็น่าปลื้มใจสุดสุดแล้ว..!!