ดร.วิชัย พยัคฆโส payackso@gmail.com ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การสร้างทุนมนุษย์พันธุ์ใหม่ให้ได้ภายใน 20 ปี จึงต้องแบ่งเอาอุดมศึกษามารวมกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อสร้างงานวิจัยที่จะ impack กับสังคมให้มากกว่าเดิม รวมถึงการสร้างจิตสำนึกการเป็นสังคมไทยต้องอยู่ในสังคมโลกที่ต้องปรับตัว มหาวิทยาลัยไทยมีมากเกินไป แต่ไม่เน้นคุณภาพ เป็นการศึกษาเพื่อธุรกิจ เป็นเพราะพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ถูกจัดทำและจัดรวมเอาการศึกษามารวมกันไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การบริหารแบบใหญ่เบ้อเริ้มทำอะไรแต่ละครั้งล่าช้า รัฐมนตรีก็มาช่วยทำงานแบบเรื่อยๆ ไปเรียงๆ การทุจริตคอรัปชั่นก็ตัดสินล่าช้า ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันมีจริง แต่การทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มาตรการ 5 ปี ทำให้การศึกษาไทยมีทรงกับทรุด ผมดีใจที่มหาวิทยาลัยไทยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ใน 10 อุตสาหกรรม รวมถึงภาคเอกชนได้ให้ความสนใจ จัดตั้งมหาวิทยาลัยไว้รองรับอุตสาหกรรม เช่น 1. มหาวิทยาลัยอมตะ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เปิดสอนหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering เน้นด้านการใช้หุ่นยนต์ ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ และยานยนต์แห่งอนาคต 2. มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน) ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์ 3. มหาวิทยาลัยโตไก เป็นมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นมี 8 วิทยาเขตทั่วญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย 19 คณะ 75 ภาควิชา มีกิจกรรมที่เป็นหลักสูตรตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก จนถึงผู้สูงอายุ เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีแนวทางการเรียนการสอนด้านปฎิบัติจริงและการสร้างความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารได้เดินทางมาดูงานที่ EEC และให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายของไทย โดยนำหลักสูตรที่มีอยู่มาเปิดสอนร่วมกับสถาบันเครือข่าย 8 แห่ง เช่น - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง - มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - มหาวิทยาลัยขอนแก่น - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี - สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น - สำนักงานกระทรวงสาธารณสุข - มหาวิทยาลัยสยาม - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัย ให้ความสนใจที่จะร่วมมือผลิตบุคคลาการในอนาคตร่วมกันเพื่อรองรับโครงการ EEC แต่จะมีความเป็นไปได้เพียงใดด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียน คิดว่าเขาน่าจะร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลนีไทย-ญี่ปุ่นมากกว่า เพราะหลักสูตรใกล้เคียงกัน ซึ่งยังไม่ได้ตกลงใจ เพราะต้องกลับไปหารือกับกระทรวงการศึกษาญี่ปุ่นในการร่วมกับสถาบันของไทย นอกจากนี้ระดับอาชีวะศึกษา จีนได้ให้ความร่วมมือกับสถาบันอาชีวะศึกษาของไทย ในการสร้างคนรองรับในระยะสั้นๆ ตามหลักสูตรของจีน น่าจะช่วยให้การศึกษาของไทยพัฒนาขึ้นมาได้เร็วกว่าที่จะปรับแต่โครงสร้างทางการศึกษาเท่านั้น อนาคตการสร้างทุนมนุษย์ของไทย จะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ต้องใช้มหาวิทยาลัยแม่บทของต่างประเทศที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว มาเป็นต้นแบบ เอาแค่อาจารย์ไปดูงานไม่เกิดประโยชน์ เพราะกลับมาแล้วยังคงใช้เครื่องไม้เครื่องมือและหลักสูตรเดิมๆ สอนกันอยู่ หวังว่าอนาคตของการศึกษาไทยจะก้าวหน้ารองรับ EEC ได้เป็นอย่างดี