สมบัติ ภู่กาญจน์ มาดู ‘สิ่งที่พีงมี’ อีก 11 ข้อ ที่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ท่านบอกผู้คนไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันปีมาแล้ว ว่าคนที่สมควรเรียกได้ว่าเป็น ‘อาจารย์’นั้น ควรมีอะไรอย่างไร? เริ่มที่ อาจาริยคุณ ข้อสอง ที่มิลินทปัญหาฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย แปลไว้ว่า อาจารย์พึงรู้ความภักดี หรือไม่ภักดีของอันเตวาสิก – ส่วนฉบับแปลจากภาษาพม่า แปลว่า พึงรู้จักเวลาที่ไม่ควรเสวนา และควรเสวนา ข้อสาม ฉบับแปลของมหามกุฏฯ พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้ประมาท หรือไม่ประมาท – ฉบับแปลจากภาษาพม่า พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืม หรือไม่หลงลืม ข้อสี่ (ฉบับ มก.) พึงรู้โอกาสอันเป็นที่นอนของอันเตวาสิก – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า ข้อห้า (ฉบับ มก.) พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้เจ็บไข้ – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้ถึงความป่วยไข้ ข้อหก (ฉบับ มก.) พึงรู้โภชนาหาร ว่าอันเตวาสิกได้แล้วหรือยังไม่ได้แล้ว – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้วหรือยังไม่ได้ ข้อเจ็ด (ฉบับ มก.) พึงรู้วิเศษ – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้จักศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน ข้อสิบ (ฉบับ มก.) พึงรู้ความเที่ยวของอันเตวาสิกว่า เที่ยวอยู่กับบุคคลผู้นั้นผู้นี้ – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้จักบุคคลที่ศิษย์ติดต่อด้วย ว่าศิษย์ติดต่ออยู่กับบุคคลผู้นี้ ข้อสิบเอ็ด (ฉบับ มก.) พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในบ้าน – (ฉบับ ปพ.) พึงรู้จักบุคคลที่ศิษย์ติดต่อด้วยทั้งในบ้านและวัด ข้อสิบสี่ (ฉบับ มก.) เห็นช่อง คือการกระทำผิดของอันเตวาสิกแล้ว พึงอดไว้ – (ฉบับ ปพ.) พึงอดกลั้น ไม่ลุแก่โทสะ เมื่อได้พบเห็นความผิดของศิษย์ ข้อยี่สิบสอง (ฉบับ มก.) พึงตั้งเมตตาจิต – (ฉบับ ปพ.) พึงตั้งเมตตา ข้อยี่สิบสี่ (ฉบับ มก.) ไม่พึงประมาทในกิจที่จะต้องกระทำ – (ฉบับ ปพ.) ไม่พึงหลงลืมในกิจที่พึงทำ ๑๑ หัวข้อนี้ คือสิ่งที่อาจารย์ ‘พึงมี’ บวกกับ สิ่งที่‘พึงทำ’อีก ๑๔ หัวข้อ ที่ผมกล่าวไปเมื่อตอนที่แล้ว รวมเป็น ๒๕ หัวข้อ ซึ่งครูผู้มีครบครันในสิ่งเหล่านี้ จึงจะสมควรแก่การเรียกขานว่า “อาจารย์”ได้ นี่เป็นคำสอนหนึ่งในวรรณกรรมชื่อมิลินทปัญหา อันเป็นคำตอบของภิกษุชื่อพระนาคเสน ที่ได้ตอบข้อซักถามของพระเจ้าแผ่นดินชื่อมิลินท์ไว้ตั้งแต่เมื่อพ.ศ.๕๐๐ หลังนิพพานของพระพุทธเจ้า ๕๐๐ ปี ซึ่ง ณ ขณะนั้น ศาสนาคริสต์ยังไม่ปรากฏ ศาสนาอิสลามซึ่งเกิดหลังศาสนาคริสต์ก็ยังไม่ปรากฏ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นแล้ว และภิกษุซึ่งเป็นศิษย์ในพระพุทธศาสนาก็กำลังพยายามเผยแพร่คำสั่งคำสอนต่อผู้คนในโลกขณะนั้นอยู่ ซึ่งแม้กำเนิดของวรรณกรรมเรื่องนี้จะชี้ชัดช่วงเวลาที่แน่นอนไม่ได้นัก แต่ที่ยืนยันได้แน่ก็คือคำสอนเรื่องนี้มีอยู่ในโลกมาแล้ว ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันปี ใครจะโต้แย้งไหมครับว่า แนวคิดจากของเก่าชิ้นนี้ มีความไม่ดี หรือล้าสมัยอยู่ที่ตรงไหน? และท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ถ้าครูหรือผู้สอนคนใด ‘มีและทำ’ได้เช่นนี้ จะสมควรแก่การเรียกขานว่า ‘อาจารย์’ได้มากกว่าครูธรรมดา และใครจะเชื่อบ้างหรือไม่ว่า ในอาจาริยคุณ 25 ข้อนี้ หลายข้อตรงกับแนวคิดเรื่องการสอนนอกกรอบ(Teaching Outside the box)หรือการสอนแนวใหม่Teach Like ....สิ่งนั้นสิ่งนี้... ที่ฝรั่งบางกลุ่มกำลังฮิตกันอยู่ในยุคนี้ ในประเด็นที่เน้นตัวผู้สอนให้เข้าใจสภาพแวดล้อมทุกอย่างของผู้รับการสอน รวมทั้งคำนึงถึงวิธีสอน มากกว่าการมุ่งแต่จะสอนตามความคิดหรือหลักสูตรการสอนแบบเก่า ที่ฝรั่งเองในยุคเก่า ก็เป็นผู้คิดขึ้นมา แต่ในโลกยุคที่(คนส่วนใหญ่เชื่อว่า)พัฒนาขึ้นเจริญขึ้น ทำไมคำสอนหรือความคิดเหล่านี้ จึงถูกเพิกเฉยละเลยไปหมด? เพราะเราเชื่อถือแต่แนวคิดตะวันตกจนมองข้ามตัวเองไปหรือไม่!? ที่ทำให้ผู้สอนหรือผู้เรียนหลายคน อาจไม่ทราบเสียด้วยซ้ำ ว่าเคยมีผู้สอนสิ่งเหล่านี้ไว้แล้วในโลกตะวันออก ตั้งแต่ไม่น้อยกว่า๑,๐๐๐ปีที่ผ่านมา โลกยังมี “ความไม่รู้”( หรือความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้จริง) ซึ่งศาสนาพุทธเรียกว่า “อวิชชา” ปกคลุมอยู่หนาแน่นในโลก “ปัญหา”ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า “ทุกข์”ในศาสนาพุทธ จึงเติบโตตามติดมาด้วย ในเรื่องทุกเรื่องและชีวิตประจำวันทุกวัน เมื่อไรหนอ สังคมเราจึงจะมีผู้มีปัญญามากพอ ที่จะรู้ว่า เรายังมีสิ่งเก่าๆที่ดีๆอีกไม่น้อย ที่เราสามารถจะศึกษาแล้วเอามาคิดใหม่และสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์ร่วมสมัยขึ้นมาได้ มิใช่จะต้องฟังแต่ความคิดฝรั่งหรือทฤษฎีฝรั่งกันอย่างเดียวเสมอไป และเหตุการณ์ร่วมสมัยในยุคนี้ ฝรั่งเองมีอะไรที่จะทำให้เรามองเห็น แล้วน่าเลื่อมใสน่าเคารพนับถือเทียบเท่ากับคำสอนเก่าๆที่เรามีอยู่บ้างไหมครับ นี่คือสิ่งคนตะวันออก(รวมทั้งคนไทย)ควรคิดและควรพิจารณา อาจารย์ของผม จุดไฟเหล่านี้มาตลอดเวลาขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ในโลก แต่ทุกวันนี้ ท่านตายไปตามสามัญญลักษณะแล้ว ศิษย์อย่างผมก็ได้แต่เติมฟืนปัญญาเล็กๆให้แก่กองไฟนี้ได้ตามอัตภาพ ที่เป็นและที่มี จะสู้กองไฟที่ลุกโชนด้วยเชื้อเพลิงแห่งความ รัก--โกรธ-โลภ-หลง ที่มีอยู่มากเหลือเกินและใหญ่เหลือเกิน ทั้งในโลกและในเมืองไทยขณะนี้ ได้อย่างไรไม่รู้? ขอฝากผู้มีปัญญา ให้ช่วยคิด กันไว้ด้วยครับ