ทีมข่าวคิดลึก
การสร้างความปรองดองในยุคของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับภารกิจการปรับแก้ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ" โดยชุด "11 อรหันต์"แต่สำหรับ "นักการเมือง" แล้วแน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างพากันเฝ้าจับตาดูว่า โฉมหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้เป็น "กติกา"กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ นั้นที่สุดแล้วจะออกมาหน้าตาอย่างไร จะเอื้อให้พรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัดอยู่นั้น มีโอกาสชนะการเลือกตั้งหรือไม่
ในระหว่างที่ภารกิจต่างๆ ที่อยู่ในมือของ "แม่น้ำทุกสาย" ที่ต่างขึ้นตรงกับ คสช. กำลังถูกขับเคลื่อนไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทว่าในทางกลับกันดูเหมือนว่า ยังมีกลุ่มการเมือง หลายพรรค หลากขั้ว กลับยังไม่มั่นใจว่าภารกิจทั้งการปฏิรูป หรือการปรองดองจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง !
เว้นแต่การผลักดันให้ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมรัฐบาลหน้า ที่จะมาจากการเลือกตั้ง ให้เดินไปตามกรอบที่ คสช.กำหนดเอาไว้ซึ่งในจุดนี้ฝ่ายการเมืองเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ "ของจริง" มากกว่าการสร้างความปรองดองหรือการปฏิรูปประเทศ ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี แม้วันนี้ฝ่ายการเมืองยังไม่มีความหวังว่าเมื่อใด คสช.จึงจะยอมให้ไฟเขียว เปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรม จัดการประชุมพรรคอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมตัว "จัดทัพ" เอาไว้รับศึกในสนามเลือกตั้งก็ตาม ย่อมไม่ใช่เรื่องใหญ่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีความเคลื่อนไหวจากนักการเมือง ทุกพรรค ทุกค่าย ทุกสี ต่างพากันเปิดตัวเปิดหน้า "ทำคะแนน" กับประชาชนในพื้นที่ตามต่างจังหวัด กันเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้รูปแบบของการประชุมพรรค หรือการดำเนินการอย่างเป็นทางการ ก็สามารถ "เข้าถึงประชาชน" กันได้อยู่ดีด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากที่นักการเมือง จากทุกๆพรรค ทุกขั้ว ทุกค่ายจะหนักอกหนักใจ ว่าจะต้องไปเดิน หน้าหาเสียงกันเมื่อวันใกล้สนามเลือกตั้งเปิดขึ้น ตามโรดแมปของ คสช. แต่อย่างใดเพราะหากเป็นเช่นจริง คงไม่ทันการ
สิ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับนักการเมืองที่รอจังหวะลงสนามเลือกตั้ง นั้นย่อมมี "เงื่อนไข" ในการวัดผลแพ้-ชนะแตกต่างกันไป ทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยเอง ย่อมประเมินรูปการณ์ได้ชัดเจนว่ากติกาใหม่ ที่จะกำหนดที่มาของ ส.ส.ในรัฐธรรมนูญ คือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อพรรคอย่างหนักหนา มากกว่าใครเพื่อน!
ทั้งต่อบรรดาสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม แต่ก็พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนหาก"สถานการณ์" ของเพื่อไทยมีแนวโน้มในทางที่เป็น "ลบ" มากกว่า "บวก"เพราะนั่นย่อมหมายความว่าอาจจะยิ่งกลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่จะทำให้เกิดการ "ทิ้งพรรค" หรือยังส่งผลให้ "คนนอก" ที่คิดจะโดดเข้าร่วมวงกับพรรคต้อง "ถอยห่าง" เพราะไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา
และนั่นคือ โจทย์ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องหาทาง "เล่น" เพื่อให้ "รอด"จากการปฏิบัติการสลายเครือข่ายอำนาจเก่า ว่าที่สุดแล้วเพื่อไทยจะใช้วิธีการใด จะเลือกตั้งพรรคนอมินีขึ้นมาแย่งชิงคะแนนเสียงทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ หรือจะเลือกปรองดองเพื่อลดแรงกดดัน ในจังหวะที่ยังเป็นรอง !