สถาพร ศรีสัจจัง
วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองสักวัน !
ด้วยความเชื่อที่ว่า "ประเทศจะเจริญก้าวหน้าเกินกว่าคุณภาพประชากรไปไม่ได้ และคุณภาพของประชากรมี "วัฒนธรรม" เป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลัง" ตามข้อสรุปของปราชญ์ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาที่เกาะยอเมืองสงขลา คือท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ล่วงลับ จึงทำให้เกิดมีโครงการเล็กๆโครงการหนึ่งเกิดขึ้นคู่กับ สถาบันแห่งนั้นมาอย่างยาวนานนับ 30 ปี
โครงการที่ว่าคือโครงการที่มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับการส่งเสริมการเขียนการอ่านของเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดน อันได้แก่ สงขลา-ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาสและสตูล ซึ่งมีปัญหาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการใช้ภาษาทับซ้อนอยู่ในหลายพื้นที่
กล่าวคือ เยาวชนในหลายพื้นที่ดังกล่าวเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 ของชีวิตประจำวัน ภาษาที่ใช้จริงคือภาษามลายูถิ่นหรือที่เรียกว่า "มลายูปัตตานี" นั่นแหละ
เฉพาะช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจาก "กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม" กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ภาพงาน "สร้างฐานความคิดจากการเขียน-อ่าน" ก็ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
ในช่วง 6 ปีที่พ้นผ่าน โครงการ "เพาะสร้างและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์วรรณศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ-สถาพร ศรีสัจจัง" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่าง "กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม" ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับสถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ นับว่าได้รับความสนใจจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
โรงเรียนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการ(ปีละประมาณ 15 โรง) จะคัดเลือกนักเรียนทั้งระดับชั้นม.ต้น และม.ปลาย เข้าร่วมโครงการฯดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ครูอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ(ปีละประมาณ 15 ท่าน) ที่เข้าร่วมนอกจากจะได้ฟังการบรรยายจากวิทยากรหลัก (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์อย่างน้อยปีละ 2 ท่าน/นักเขียนหรือกวีซีไรต์อย่างน้อยปีละ 2 คน)แล้ว ก็จะแยกส่วนไปมีกิจกรรมเป็นส่วนของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นสนทนากลุ่มย่อยในประเด็น "การส่งเสริมการอ่าน เขียนในสถานศึกษา" เพื่อหาข้อสรุปร่วมเกี่ยวกับปัญหาและช่องทางในการส่งเสริมเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพเยาวชนจากการอ่านเขียน
รายชื่อวิทยากรที่โครงการนี้ "คัดเลือก" มาร่วมงานเป็นประจำ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปี พ.ศ. 2562 นี้ (เพิ่งจบงานไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562) ที่สำคัญๆได้แก่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ครูสลา คุณวุฒิ ร.ศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์(ไพฑูรย์ ธัญญา) ไพวรินทร์ ขาวงาม จิรนันท์ พิตรปรีชา จำลอง ฝั่งชลจิตร คมทวน คันธนู จเด็จ กำจรเดช มนตรี ศรียงค์ กานติ ณ ศรัทธา วรภ วรภา ศิริวร แก้วกาญจน์ และ ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง เป็นต้น
กล่าวสำหรับผลสัมฤทธิ์จากโครงการที่ดำเนินมาไม่น้อยกว่า 30 ปีของโครงการนี้ แม้จะไม่ผ่านการประเมินเชิงวิชาการอย่างเป็นระบบตามอย่างที่ระบบราชการชอบทำกัน แต่อย่างน้อยภาพปรากฏที่ได้รับความสนใจอย่างสูงจากคณะครูและโรงเรียนต่างๆที่ "บอกต่อ" ว่าเป็นโครงการที่ "มีคุณภาพและส่งผลสะเทือนต่อการสร้างฐานการเรียนรู้ด้านความคิดอ่านแก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเห็นผล"
และภาพของเด็กๆที่เป็น "เมล็ดพันธุ์" ซึ่งได้รับ "คัดเลือกจากหัวหน้าโครงการปีละประมาณ 1" 3 คนให้เป็น "ศิษย์สายตรง" เพื่อการพัฒนาความคิดและการเขียนต่อแบบตัวต่อตัวกับศิลปินแห่งชาติบางคน ก็เริ่มมีผลงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ใดีเป็นที่ประจักษ์ในวงการบ้างแล้ว ไม่ว่าจะในนามของ "โรสนี นูรฟารีดา" (1 ใน 3 แคนดิเคตซีไรต์เมื่อ 3 ปีก่อน)หรือ " วิศิษฎ์ ปรียานนท์" หรืออีกบางใคร
นี่ยังไม่นับผลสะเทือนทางความคิดที่ก่อเกิดกับเด็กและครูผู้เข้าร่วมโครงการอีกจำนวนหลายร้อย เกี่ยว
กับความตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของการอ่านและการเขียน
ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการสร้าง "คนคุณภาพใหม่" ให้กับชาติบ้านเมือง!!!