แสงไทย เค้าภูไทย พ.ร.บ.ครอบครัวที่ครอบคลุมถึงการสูบบุหรี่ในบ้านว่าเข้าข่ายก่อความรุนแรงในครอบครัวทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ถูกมองอย่างฉงนว่า ไปก่อให้เกิดอาชญากรรมได้อย่างไร เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ 20 ส.ค.ศกนี้ ว่าเป็นการแทรกแซงกิจกรรมภายในครัวเรือนหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการสูบบุหรี่ที่อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวภายในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 “Tobaco and Lung Health” เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะก่อผลเสียภายในครอบครัวหลายด้าน คือทำให้สัมพันธภาพครอบครัวลดลง เมียไม่อยากเข้าใกล้(เพราะเหม็น) ลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบสูบตามพ่อ อีกทางหนึ่งควันบุหรี่มือสอง ก่อให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพของคนในครอบครัว นอกจากนี้หากผู้ติดบุหรี่แล้วไม่ได้สูบก็จะหงุดหงิด ก้าวร้าว ฉุนเฉียว ใส่อารมณ์กับครอบครัว พฤติกรรมก่อโทษเหล่านี้อาจจะมีความผิดทางอาญาต้องขึ้นศาลอาญาและขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง บรรดาสื่อทุกสาขาพากันตีความว่า “สุบบุหรี่ในบ้านผิดกฎหมาย” ถึงขั้นติดคุก เพราะเป็นคดีอาญา อีกด้านหนึ่ง เกิดการเปรียบเทียบกับกัญชา ที่มีเสียงเรียกร้องให้ปลูกเสรี ยกเลิกสถานภาพยาเสพติด อ้างว่า บุหรี่เป็นยาเสพติด แต่ทำไมไม่ผิดกฎหมาย แต่จากเนื้อหาในพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ได้ตีความชี้โทษการสูบบุหรี่ในบ้านที่อาจมีความผิดทางอาญาเช่นนี้ จะทำให้การเรียกร้องให้ยกเลิกสถานภาพกัญชาจากยาเสพติดถูกปิดตายไปโดยปริยายเลยหรือไม่? เพราะพิษภัยต่อสุขภาพของกัญชานั้น ในรูปของการสูบเอาควัน ไม่ว่าจะในแบบสูบบุหรี่หรือแบบสูบบ้อง ล้วนเป็นพิษต่อปอดสูงกว่าบุหรี่ 5-6 เท่าตัว ส่วนพิษสะสมและตกค้างนั้น กัญชาก่อเกิดพิษเช่นเดียวกันกับบุหรี่ เช่นทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรังจนถึงขั้นมะเร็งและลามไปถึงระบบหายใจอื่นๆด้วย นอกจากนี้ ยังมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้ผู้เสพจนติดมีการรับรู้และตอบสนองช้า เฉื่อย ติดมากๆ ถึงเพ้อ หลอน หวาดกลัว คลั่ง สำคัญผิด ไม่รู้สึกตัว ตื่นตกใจง่าย สังคมไทยในอดีตมีผู้เสพติดกัญชาจนเกิดอาการเหล่านี้ ที่เรียกกันว่า “บ้ากัญชา” ให้เห็นเป็นของธรรมดาอยู่ทั่วไป แม้กัญชาจะมีคุณสมบัติทางการรักษาโรคที่หายยากมากมาย แต่โทษและพิษภัยต่อสุขภาพก็มีมาก รัฐบาลประเทศที่เปิดกัญชาเสรีด้านผ่อนคลายหรือสันทนาการ( recreational cannabis) นอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์แล้ว ได้บังคับให้ติดคำเตือนบนภาชนะบรรจุเช่นซองแบบบุหรี่เตือนพิษภัยกัญชา นอกจากนี้้ ยังเก็บภาษีพิเศษนอกเหนือจากภาษีสรรพสามิต อย่างสหรัฐและแคนาดานั้น เก็บ 3-4 % จากราคาขายปลีก ภาษีกัญชานี้ รัฐบาลจะนำไปใช้เป็นกองทุนสำรองสวัสดิการผู้สูงวัยและผู้ป่วยยาเสพติด สำรับการใช้ทางการแพทย์นั้น การเรียกร้องให้ปลดกัญชาจากยาเสพติด หากมีการปลด ก็คงจะปลดจากยาเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นประเภทที่ 2 สำหรับน้ำมันกัญชาซึ่งเข้าข่ายสารอนุพันธ์ของพืชเสพติดอย่างเช่นมอร์ฟีนเป็นต้น มอร์ฟีน(Morphine) เป็นสารสกัดจากยางฝิ่น ใช้เป็นยาฉีดระงับปวดรุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Analgesics) ทั้งมอร์ฟีน ทั้งกัญชา ทั้งโคคาอีน กระท่อม ฯลฯ ล้วนเป็นยาบรรเทาอาการปวด ( opioids) ทั้งสิ้น โคคาอีนหรือโคเคน(cocaine) นั้น ได้จากสารสกัดใบโคคา เป็นต้นกำเนิดของเครื่องดื่มโคคา โคล่า ที่ช่วงต้นๆขายตามร้านขายยา ต่อมารัฐบาลสหรัฐห้ามใช้โคคาอีนผสมในเครื่องดื่มชนิดนี้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โคคาโคล่าหรือเครื่องดื่มน้ำดำที่ลงท้ายชื่อด้วยโคล่าทุกวันนี้ ใช้สารสกัดจากกาแฟคือคาเฟอีนอย่างอ่อนแทนโคคาอีน วันนี้ กัญชาแทนที่โคคาอีนในเครื่องดื่มหลายประเภท รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ในไม่ช้าก็อาจจะเป็นแบบโคเคน คือถูกถอดออกไปทีละอย่างสองอย่าง อย่างเช่นขณะนี้ ห้ามผสมในไอศกรีมแล้ว เพราะความเป็นสารเสพติดนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด มันก็ยังออกฤทธิ์แบบสารเสพติดอยู่วันยังค่ำ